การสื่อสาร
SUB_TIK April 12, 2025 08:20 PM
คอลัมน์ : Market-think ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ผมประทับใจผู้นำสิงคโปร์มากในเรื่องการสื่อสารเรื่องการขึ้นกำแพงภาษีของ “โดนัลด์ ทรัมป์”

เพราะแสดงความเป็น “ผู้นำ” ในยามวิกฤตที่ดีมาก

เขาออกมาแถลงข่าวบอกเล่าปัญหาให้กับประชาชน พร้อมกับทางแก้ไข และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก

ก่อนหน้านี้ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่ได้ใหญ่ระดับ “แผ่นดินไหว” ทางเศรษฐกิจ

จนกระทั่งได้ฟัง “ลอว์เรนซ์ หว่อง” นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์แถลง

ทั้งที่สิงคโปร์เจอกำแพงภาษีแค่ 10%

จิ๊บจ๊อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

แต่ “หว่อง” ออกมาแถลงกับประชาชน ฉายภาพให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดไหน

เพราะมันคือการทำลายระบบการค้าเสรี

“สิงคโปร์” เป็นประเทศเล็กที่อาศัยกฎกติกาของระบบการค้าเสรี แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไปกลายเป็นการก่อสงครามการค้าระหว่างประเทศ

แบบนี้ประเทศใหญ่ได้เปรียบ

ประเทศเล็กเสียเปรียบ

ต้องยอมรับว่านายกฯ สิงคโปร์สื่อสารได้ดีมาก

เห็นภาพรวมทั้งหมด

โดยเฉพาะที่บอกว่าเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในโลกใบนี้เมื่อปี 1930

และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2

ประโยคนี้ประโยคเดียวทำให้ผมรู้สึกเลยว่าสงครามการค้าที่ “ทรัมป์” จุดกระแสขึ้นครั้งนี้มันมีโอกาสเป็นหายนะของโลก

ถ้า “ทรัมป์” ไม่ปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายของเขา

ผมชอบวิธีการสื่อสารของ “ลอว์เรนซ์ หว่อง”

เขาใส่เสื้อเชิ้ตธรรมดา นั่งบนเก้าอี้กลางห้องทำงาน

เหมือนเพิ่งทำงานเสร็จแล้วมานั่งล้อมวงคุยกับคนสิงคโปร์

ตามองกล้อง เหมือนกำลังสบตากับประชาชน

พูดช้า ๆ หนักแน่น ด้วยภาษาง่าย ๆ ไม่หรูหรา

“ต้นสน” ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่เคยทำงานที่สิงคโปร์บอกผมว่า ผู้นำสิงคโปร์เคยสื่อสารกับประชาชนแบบนี้มาครั้งหนึ่ง

ตอนที่เกิดโควิดระบาด

ตอนนั้นคนส่วนใหญ่เชื่อว่าไม่นาน

แต่ผู้นำสิงคโปร์เตือนประชาชนว่าโควิดจะยาวนาน

ดังนั้น การออกมาพูดแบบเดียวกันในวันนี้จึงเป็นสัญญาณเตือนประชาชนสิงคโปร์ทุกคนให้เตรียมตัวเตรียมใจ ไม่ประมาท

มีหลายคนนำเรื่องนี้มาเปรียบเทียบกับ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี

ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ หรือแถลงการณ์ที่ออกมา

ต้องยอมรับว่าข้อความที่คุณแพทองธารสื่อสารออกมา ไม่ทำให้คนไทยเกิดความมั่นใจในรัฐบาลมากนัก

โดยเฉพาะแถลงการณ์ที่ไม่มีเนื้อหาที่จับต้องได้

มีแต่คำที่ลอย ๆ

นอกจากนั้น การเรียกประชุมคณะทำงานในวันอังคารที่ 8 มีนาคม หลังวันหยุดยาว 3 วัน

ยิ่งทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่ารัฐบาลกระตือรือร้นกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจครั้งนี้น้อยไป

จนเมื่อ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ

ผมถือว่าการสื่อสารครั้งนี้ช่วยรัฐบาลได้เยอะ

เห็นวิธีคิด วิธีทำงานของคณะทำงานว่ากำลังทำอะไรอยู่

การเคลื่อนของรัฐบาลใคร ๆ ว่า “ช้า” จริง ๆ คือความตั้งใจที่จะไม่เร็วเกินไป

เพราะเร็วเกินไปก็ไม่มีประโยชน์

อาจจะเสียมากกว่าได้

เหมือนกับ “เวียดนาม” ที่เทเกือบหมดกระเป๋า แต่ “ทรัมป์” ยังจะขอเพิ่มอีก

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีของรัฐบาลในการปรับเรื่อง “การสื่อสาร”

ไม่ต้องให้นายกฯ “อุ๊งอิ๊ง” มานั่งแถลงข่าวแบบนายกฯ สิงคโปร์ก็ได้

เพราะทุกคนไม่ได้เก่งในเรื่องนี้เหมือนกัน

สมัยก่อน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ที่ “อาจารย์โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร เคยบอกว่าก็ท่านไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจเลย

วิธีการของ พล.อ.เปรม คือไม่พูดเรื่องนี้

จะพูดแค่หลัก ๆ แล้วให้ “อาจารย์โกร่ง” อธิบายเป็นภาษาง่าย ๆ แทน

หรือนายอานันท์ ปันยารชุน ก็ใช้วิธีการสื่อสารด้วยการคิดมาจากบ้าน ว่าจะพูดเรื่องอะไรกับประชาชน

และนำประเด็นเอง ไม่พูดตามคำถามของสื่อ

ตั้งใจบอกอะไรกับประชาชนก็พูดเลย

ที่สำคัญที่สุดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ต้องไม่ลืมว่า “การสื่อสาร” ไม่ได้หมายถึงแค่ “คำพูด”

แต่หมายถึง “การกระทำ” ด้วย

อย่างกรณีเรื่องกำแพงภาษีของ “ทรัมป์” ถ้าไม่สามารถบอกตรง ๆ ได้ว่าเราวางแผนการเจรจาอย่างไร

อย่างน้อย “แอ็กชั่น” ที่ประชาชนควรได้เห็นคือการทำงานแบบ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด

จะเป็นของทีมทำงาน หรือตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ตาม

ประชาชนจะได้อุ่นใจว่ารัฐบาลกำลังทำงานอยู่

ไม่ใช่รอประชุมหลังวันหยุดยาว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.