พ่อเมืองศรีสะเกษเปิดฤดูกาล ปัดดอกด้วยรัก ผสมเกสรด้วยใจ ‘ทุเรียนภูเขาไฟ’ แห่งอีสานใต้
GH News April 13, 2025 04:40 PM

พ่อเมืองศรีสะเกษเปิดฤดูกาล
ปัดดอกด้วยรัก ผสมเกสรด้วยใจ
‘ทุเรียนภูเขาไฟ’แห่งอีสานใต้

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ซึ่งเป็นฤดูร้อน สภาพอากาศร้อนจัด แต่ฤดูกาลที่มีผลไม้หลากหลายชนิดถือเป็นช่วงต้นของฤดูผลไม้ โดยเฉพาะ “ทุเรียน” ราชาแห่งผลไม้ มีให้เลือกรับประทานหลากหลายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติ สำหรับพื้นที่ภาคอีสาน “ทุเรียนภูเขาไฟ” จ.ศรีสะเกษ เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มแฟนคลับนักชิมทุเรียน เพราะมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ในเรื่อง “ความหวานนุ่ม ละมุนลิ้น กลิ่นไม่ฉุน” ไม่เหมือนใคร เป็นรสชาติแห่งเดียวของทุเรียนอีสานใต้

ในช่วงต้นฤดูกาลที่ผ่านมา “อนุพงศ์ สุขสมนิตย์” ผู้ว่าฯศรีสะเกษ นำหัวหน้าส่วนราชการทำกิจกรรม “ปัดดอกด้วยรัก ผสมเกสรด้วยใจ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ที่สวนทรัพย์ศิริ หมู่ 8 บ้านหนองเก่า ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ

เพื่อประชาสัมพันธ์การเข้าสู่ฤดูกาลการผลิตทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ สร้างการรับรู้สื่อความใส่ใจของเกษตรกรถึงผู้บริโภค ส่งเสริมการตลาดและการท่องเที่ยว โดยมี “ธาตรี สิริรุ่งวนิช” รองผู้ว่าฯศรีสะเกษ “ปวิช รัตวาลย์” นายอำเภอขุนหาญ “สุชาติ กลิ่นทองหลาง” เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ร่วมกิจกรรม

การปัดดอกทุเรียนเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ช่วยผสมเกสร โดยใช้ไม้กวาด หรือพู่กันปัดเกสรตัวผู้ให้หล่นลงดอกเกสรตัวเมีย จะทำให้การผสมเกสรสมบูรณ์และมีเปอร์เซ็นต์การติดผลมากขึ้น ประโยชน์ของการปัดดอกทุเรียน สามารถกำหนดตำแหน่งการติดผลตามกิ่งที่มีขนาดใหญ่ หรือกิ่งที่อยู่ในระดับต่ำได้ ช่วยให้ทุเรียนติดผลดีขึ้น เกษตรกรสามารถกำหนดวันเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เก็บเกี่ยวง่าย ผลทุเรียนแก่ใกล้เคียงกัน รูปทรงผลสวยงาม น้ำหนักและขนาดผลดี หลังจากผสมเกสรแล้วรังไข่จะเจริญเติบโตเป็นผลทุเรียนตามพัฒนาการ โดยชาวสวนจะทำบันทึกวันผสมเกสรไว้ทุกช่อ ทุกต้น เพื่อความแม่นยำในการตัด และนับอายุหลังจากวันผสมถึงวันเก็บเกี่ยว 110-120 วันโดยประมาณ

“สุชาติ กลิ่นทองหลาง” กล่าวว่า ศรีสะเกษถือเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษทั้งหมด 20,463 ไร่ ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.กันทรลักษ์ ขุนหาญ และศรีรัตนะ ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ดินภูเขาไฟที่มีลักษณะเหนียว อนุภาคดินละเอียดสลับกับหินหยาบสีแดง ระบายน้ำดี มีธาตุอาหารชนิดต่างๆ ที่จำเป็นต่อพืชในปริมาณสูง ส่งผลให้ทุเรียนมีรสชาติดี เนื้อทุเรียนแห้ง เส้นใยละเอียด ละมุนลิ้น กลิ่นไม่ฉุน เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดการณ์ว่าปี 2568 จะมีพื้นที่ให้ผลผลิต 13,568 ไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 2,392 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 21.40%

“สำหรับระยะการเจริญเติบโตของผลทุเรียนจะเริ่มตั้งแต่ระยะเตรียมออกดอกในช่วงเดือนมกราคม จนถึงระยะออกดอก ดอกบานและติดผลในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม จากนั้นจะเข้าสู่ระยะพัฒนาของผล จนถึงระยะทุเรียนพร้อมรับประทาน ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม หรือประมาณ 120 วันจากระยะออกดอก ดังนั้น ในห้วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจึงเตรียมปัดดอกผสมเกสรทุเรียนเพื่อช่วยให้ทุเรียนติดผลดีขึ้น ผลทุเรียนมีรูปทรงสวย ไม่บิดเบี้ยว โดยจะปัดดอกในช่วงเวลา 19.00-21.00 น. เพราะดอกทุเรียนจะบานเต็มที่ เป็นระยะที่เกสรตัวเมียเปิดปากรับเกสรตัวผู้ และหลั่งน้ำหวานออกมามากที่สุด อันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการปัดดอกทุเรียน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผสมเกสร นำไปสู่ผลผลิตทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษที่มีคุณภาพ” เกษตรจังหวัดกล่าว

ผู้ว่าฯอนุพงศ์กล่าวว่า จากพื้นที่ทำการเกษตรของ จ.ศรีสะเกษ 4.2 ล้านไร่ วาระเกษตรบูรณาการจึงถือเป็นหนึ่งวาระที่สำคัญ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งหนึ่งในพืชที่สำคัญและสร้างชื่อเสียงให้ จ.ศรีสะเกษ คือ “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมการขับเคลื่อนภายใต้วาระเกษตรบูรณาการนี้ จังหวัดได้ตั้งผลสัมฤทธิ์การขับเคลื่อนทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษนี้คือ “ต้นทางกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ กลางทางควบคุมคุณภาพอย่างมั่นใจ ปลายทางสู่กระบวนการที่ยั่งยืน” ผ่านกระบวนการการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ส่งเสริมเกษตรกรได้อบรมพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูก การวิจัยทุเรียนพันธุ์ของของจังหวัด คือ ศรีสะเกษ 238 และ 239 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร การยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP สู่ GI พัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ตุ๊กตาจิ๋ว เข็มกลัด เครื่องประดับต่างๆ ของผลทุเรียนที่เกษตรกรได้ตัดแต่งออก อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดในช่วงเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมกันขับเคลื่อนทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกรชาว จ.ศรีสะเกษ ในทุกภาคส่วน และสร้างชื่อเสียงที่ดีของจังหวัดต่อไป

“ทุเรียนภูเขาไฟ GI เป็นพืชเศรษฐกิจหลักและเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รสชาติและอัตลักษณ์เฉพาะ “หวานนุ่ม ละมุนลิ้น กลิ่นไม่ฉุน” ทานแล้วจะได้ความรู้สึกละมุนที่ลิ้น ละลายที่ใจ เนื่องจากเกษตรกรต่างใส่ใจและดูแลอย่างพิถีพิถัน ขอให้อดใจรอชิมรสชาติและอัตลักษณ์เฉพาะ “หวานนุ่ม ละมุนลิ้น กลิ่นไม่ฉุน” เพียง 4 เดือนเท่านั้น จะรับรู้ความรู้สึกละมุนที่ลิ้น ละลายที่ใจแน่นอน”

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.