นักกฎหมายมหาชน เตือน กกต.ไต่สวน พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย อาจล่าช้าเกินกรอบเวลา 1 ปี เสี่ยงคดีขาดอายุความ ทั้งกรณีคุณสมบัติผู้สมัครและพัวพันโพยฮั้ว สว. ชี้สังคมตั้งคำถามหนัก เป็นเทคนิคลดกระแสหรือถ่วงเวลาให้พ้นผิด
13 เม.ย. 2568 – สืบเนื่องจากที่ประชุม กกต. มีความเห็น ให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ทำการสืบสวนและไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม กรณี พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา ในประเด็นเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร สว.และอีกประการหนึ่ง กรณีพัวพันกรณีโพยฮั้ว ก่อนที่จะเสนอ กกต.ให้วินิจฉัยชี้ขาด นั้น
ล่าสุด ดร.ณัฏฐ์ ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวว่า ในการสืบสวน การไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด ของ กกต.ต้องอาศัย ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2566 โดย ระยะเวลาในการสืบสวนและไต่สวน มีกรอบระยะเวลา 1 ปี เท่านั้น ซึ่งตรงนี้ ประชาชนทั่วไป ไม่อาจทราบได้ เพราะเป็นระเบียบภายในที่ กกต.นำมาใช้ในคดีเลือกตั้ง สส.และการเลือก สว.ด้วย
ดร.ณัฏฐ์ ระบุว่า ในสำนวนแรก ประเด็นคุณสมบัติของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย หรือหมอเกศฯ มีอยู่ 2 ประเด็น คือ ไม่จบปริญญาเอก แต่แอบอ้างว่าตนเองจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่ง ภาวะวิญญูชนทั่วไปย่อมทราบดีอยู่แล้ว ว่า ไม่ได้ไปเรียนต่างประเทศ แต่มีแม่ทีม รับบริหารจัดการตัวแทนในประเทศไทย โดยไม่ได้ไปเรียนจริง แต่มีหนังสือรับรองว่าจบการศึกษาปริญญาเอก แถมได้ตำแหน่งทางวิชาการในตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสถาบันแห่งนี้ ให้พี่น้องประชาชนไปสืบค้นเอาเองว่ามีที่มาเป็นอย่างไร หากเทียบเคียงให้เห็นภาพ กรณี รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมต.เกษตรและสหกรณ์ อ้างอิงสถาบันแห่งนี้ หน้าแหกมาแล้ว แต่ในมติกฎหมาย พญ.เกศกมลฯ อาจสู้เรื่องเจตนาได้ โดย พรป.สว.มาตรา 13 ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติการศึกษาขั้นต่ำเอาไว้ ตรงนี้ สามารถยกขึ้นต่อสู้ได้
“แต่ประเด็นที่มีปัญหา การอ้างอิงว่าตนเองจบปริญญาเอกในต่างประเทศ แต่ความจริงไม่ได้เรียนจบหรือเป็นเพียงสถาบันเทียบคุณวุฒิเท่านั้น เป็นการจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด ในคุณสมบัติว่าเรียนจบปริญญาเอกต่างประเทศ หรือไม่ เพราะ สกอ.ไทยไม่รับรอง ไม่มีหน่วยงานรัฐใดรับรองว่าสถาบันที่ไปเรียนเป็นมหาวิทยาลัย อีกทั้งอ้างอิง ตำแหน่งทางวิชาการ”ศาสตราจารย์“ ส่งผลทำให้ผู้สมัคร สว.ด้วยกัน เทคะแนนให้ ตาม พรป.สว.มาตรา 77(4) ซึ่งตรงนี้ เป็นสาระสำคัญของการไต่สวนฯ ว่า เป็นการสร้างความนิยมให้เข้าใจผิดในคุณสมบัติหรือไม่” ดร.ณัฏฐ์ ระบุ
ดร.ณัฏฐ์ ระบุด้วยว่า เพราะหากย้อนไปดูข้อมูลแนะนำตัว พญ.เกศกมลฯ ตามมาตรา 36 ระบุ จบการศึกษาปริญญาเอกถึง 2 ใบ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่ง สว.20 กลุ่ม เน้นประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่น้อยกว่า 10 ปี ตามมาตรา 13(3)แห่ง พรป.สว. การอวดอ้าง ทำให้คุณสมบัติเหนือคนอื่น ส่งผลทำให้ผู้สมัคร สว.ด้วยกัน เทคะแนนให้หรือไม่ อย่างไร ตรงนี้ เป็นหน้าที่ กกต.จะต้องไต่สวนให้ข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้ง เกิดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ ประกอบกับระยะเวลาไต่สวนใกล้ครบ 1 ปี จะทำให้คดีเพิกถอนสิทธิฯสว.ขาดอายุความ ทำให้หลุดพ้นข้อกล่าวหาได้
ดร.ณัฏฐ์ ระบุด้วยว่า ส่วนอีกสำนวนหนึ่ง ในส่วนประเด็น พญ.เกศกมลฯ เกี่ยวพันโพยฮั้วกลุ่ม สว.สีน้ำเงิน ที่มีรายชื่อ 1 ใน 140 คนนั้น ตนเองมองว่า เป็นคนละส่วนกัน แต่สามารถรวมสำนวนไต่สวนไปพร้อมกันได้ ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ เพราะคดีโพยฮั้ว มีพยานหลักฐานจำนวนมาก และใช้ระยะเวลาพอควร ส่งผลทำให้สำนวนแรก ล่าช้าไปด้วย หากรวมสำนวน อาจเป็นช่องให้เลื่อนไต่สวนไปเรื่อยๆ จนสำนวนแรกขาดอายุความ ก่อให้เกิดความเสียหายได้
“แต่ที่ประชาชนสอบถามกันมาเยอะ ว่า ประเด็นที่สืบสวนหรือไต่สวนเพิ่มเติม ยืดเวลาออกไปนั้น เพื่อลดโทนกระแสสังคม หรือไม่อย่างไร เพราะการจูงใจให้เข้าใจผิดในคุณสมบัติว่าตนเองเรียนจบปริญญาเอกและไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ “ศาสตราจารย์” ไม่จำต้องใช้ระยะเวลาตรวจสอบเกินควร ประกอบระยะเวลาใกล้ครบ 1 ปี ทำให้ขาดอายุความ อาจเปิดช่องให้รอดพ้นข้อกล่าวหาได้” ดร.ณัฏฐ์ ระบุ .