เทศกาลดื่ม ยากที่จะบอกให้เลิก หมอแนะ ดื่มแบบปลอดภัยลดปัญหา-ลดอุบัติเหตุ
GH News April 14, 2025 01:00 PM

วันที่ 14 เมษายน เพจเฟซบุ๊ก คุยกับหมอฆนัท โดย นพ.ฆนัท ครุธกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ และนายกสมาคมโภชนาการเพื่อกีฬาและสุขภาพ ได้โพสต์ข้อความ เทศกาลของการ ‘ดื่ม’ กลับมาแล้ว โดยระบุว่า

สงกรานต์เป็นอีกหนึ่งวันหยุดที่เราจะได้พบปะหน้ากัน ซึ่งจะหยุดยาวหน่อย ทำให้หลายคนเดินทางกลับบ้านเกิด ไปหาญาติ หาครอบครัว หรือไม่ก็ออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ แต่สิ่งที่ตามมามักจะเป็นการ ‘กินเหล้า’ ถ้ากินกันอยู่บ้านเฉยๆ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หลายคนที่คิดว่ากินนิดหน่อย ไม่เมา ไม่เป็นไร ก็อาจจะขับรถ ขับขี่ออกไปโดยไม่ระวัง แถมยังเมา ก็จะเกิดอุบัติเหตุขึ้น

โดยช่วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,044 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,060 คน ผู้เสียชีวิต รวม 287 ศพ (ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์2567) ซึ่งในจำนวนนี้มีสาเหตุจากดื่มแล้วขับ ถึง 12.5% สงกรานต์ทำให้เห็นภาพ ‘เมาหัวราน้ำ’ อยู่บ่อยๆ

หมออยากจะขอแนะนำให้ทุกคนปรับวิถีการเที่ยวสงกรานต์ ให้สนุก ปลอดภัย (ลด)แอลกอฮอล์

แน่นอนว่า คนที่เคยดื่มมาตลอด อยู่ๆ จะมาบอกให้เลิกดื่ม ก็อาจจะยากเกินไป

แต่ถ้าทำให้ง่ายขึ้น ก็ต้องเริ่มจากการลดปริมาณให้น้อยลง โดยปฏิบัติตามขั้นตอนง่ายๆ คือ

1.กำหนด และจำกัดปริมาณที่จะดื่ม ซึ่งควรต้องน้อยกว่าปริมาณที่ดื่มปกติ
2.ก่อนจะดื่ม เราต้องทานอาหาร หรือดื่มพร้อมอาหาร เพื่อลดฤทธิ์ของแอลกอฮอล์
3.ช่วงที่ปาร์ตี้ เราควรเลี่ยงอาหารรสเค็ม หรือรสจัด เพราะจะทำให้หิวน้ำบ่อย
4.เลือกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้นน้อยลง เช่น ดื่มเบียร์ แทนการดื่มเหล้า
5.สำหรับคนดื่มเหล้า ก็ขอให้ผสมแบบเจือจาง ลดความเข้มข้นของแอลกอฮอล์

6.ดื่มน้ำเปล่าสลับบ้างระหว่างที่ดื่มเหล้า
7.ทำกิจกรรมที่ให้ความสุขใจอย่างอื่นทดแทน เช่น คุยกับเพื่อน นั่งเล่นเกม เล่นกีฬา ทำกิจกรรมต่างๆ
8.หากถูกชักชวนให้ดื่ม ให้ปฏิเสธโดยตรงว่า “มีปัญหาสุขภาพ หมอสั่งไม่ให้ดื่ม”
9.ข้อสำคัญคือถ้ามียาที่ต้องกินประจำ ให้เลือกกินยา ไม่ใช่แอลกอฮอล์

10.ให้ตั้งเป้าหมายในการลดการดื่มอย่างตั้งใจ เพราะจะทำให้ 9 ข้อที่ผ่านมาทำได้ง่ายขึ้น

แต่จนแล้วจนรอด ถ้ายังไม่สามารถลดปริมาณการดื่มได้ ยังรู้สึกว่าต้องการดื่มอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับความช่วยเหลือ เบื้องต้นอาจต้องโทรปรึกษาที่สายด่วนเลิกเหล้า 1413 หรือสามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากแพทย์ได้ใน รพ. ทุกแห่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.