มะเส็ง สัปตศก ฝนตกโลกมนุษย์ 60 ห่า 14 เมษา ‘มหาสงกรานต์’ 68
พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร April 14, 2025 01:24 PM

มะเส็ง สัปตศก
ฝนตกโลกมนุษย์ 60 ห่า
14 เมษา ‘มหาสงกรานต์’ 68

สงกรานต์ พุทธศักราช 2568

ยังอยู่ในห้วงเวลาแห่งความโศกเศร้าและเอาใจช่วยหน่วยกู้ภัย ติดตามผู้คนที่ยังสูญหายใต้ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

กลุ่มคนที่ควรได้กลับบ้านอย่างสุขใจพร้อมหน้าครอบครัวอันเป็นที่รัก

ทว่า กลับไม่เป็นเช่นนั้น

ศักราชใหม่นี้ เข้าสู่ปีมะเส็ง (มนุษย์ผู้ชาย ธาตุไฟ) สัปตศก จุลศักราช 1387 ทางจันทรคติ เป็นอธิกวาร ทางสุริยคติ เป็นปกติสุรทิน

วันที่ 14 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 1 ค่ำ เดือน 5 เวลา 04 นาฬิกา 28 นาที 28 วินาที นางสงกรานต์ทรงนามว่า ‘ทุงสะเทวี’ ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราค ภักษาหารอุทุมพร (มะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ

ฝนตกโลกมนุษย์ 60 ห่า
‘ข้าว ผลไม้ เนื้อสัตว์’ บริบูรณ์

วันที่ 16 เมษายน เวลา 08 นาฬิกา 27 นาที 36 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1387 ปีนี้ วันศุกร์ เป็น ธงชัย, วันศุกร์ เป็น อธิบดี, วันพฤหัสบดี เป็น อุบาทว์, วันอาทิตย์ เป็น โลกาวินาศ ปีนี้ วันพุธเป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า นาคให้น้ำ 5 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร (ข้าว) พลาหาร (ผลไม้) มัจฉมังสาหาร (เนื้อสัตว์) จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ ประชาชนทั้งหลายจะเป็นสุขสมบูรณ์แลเกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก

ประกาศสงกรานต์ รัตนโกสินทรศก 120 (ภาพจาก หอสมุดแห่งชาติ)

สงกรานต์ ‘วัฒนธรรมร่วม’
สงกรานต์ในไทย ‘มรดกโลก’ ปี’66

ถือเป็นอีกปีที่ไม่มี (อีกแล้ว) สำหรับดราม่ายื้อแย่งความเป็นเจ้าของประเพณีสงกรานต์แต่เพียงผู้เดียว เนื่องด้วยทุกวันนี้เป็นที่รับรู้กว้างขวางมากขึ้นว่านี่คือ ‘วัฒนธรรมร่วม’ ในอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้มีเฉพาะไทยแท้แต่โบราณ หากแต่รัฐเพื่อนบ้านก็มีสงกรานต์ในรูปแบบของตัวเอง

วิวาทะ Water festival จึงค่อยๆ จางหายไปจากสมรภูมิดีเบตไม่ว่าจะโลกออนไลน์ หรือออนไซต์ สวนทางกับกระแส ‘ชาตินิยม’ คลั่งชาติ อนุรักษนิยมแบบสุดโต่งที่ยังคงมีอยู่ เน้นบูลลี่ แม้กระทั่งวงการนางงามและชายงาม

ข้อมูลและมุมมองของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ผลิตซ้ำมาแล้วนับสิบๆ ปีเกี่ยวกับสงกรานต์ในภูมิภาคแห่งนี้ อธิบายถึงห้วงเวลาหลังฤดูเก็บเกี่ยวเข้าสู่หน้าแล้ง เมื่อไม่มีฝน ก็ไม่ทํานา อากาศร้อน ครั้นถึงเดือน 5 ทางจันทรคติตรงกับเดือนเมษายน ทางสุริยคติ ชาวบ้านก็พากันทําพิธีเลี้ยงผีประจําปี และมีการละเล่นต่างๆ เนื่องใน ‘ศาสนาผี’

ครั้นรับวัฒนธรรมความเชื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในอินเดีย ราว 1,500 ปีมาแล้วก็รับการขึ้นศักราชใหม่ (ไม่ใช่ปีนักษัตร) มาผสมผสานความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่น เมื่อดวงอาทิตย์โคจรจากราศีมีนย้ายเข้าราศีเมษ เรียกว่า ‘มหาสงกรานต์’ ในเดือนเมษายน

ปัจจุบัน พม่า (มอญ), ลาว, กัมพูชา, สิบสองปันนาในจีนและไทย มีเทศกาลสงกรานต์คล้ายคลึงกันด้วยเหตุนี้

สำหรับ ‘สงกรานต์ในประเทศไทย’ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก ในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage-ICS-ICH) สมัยสามัญ ครั้งที่ 18 ณ เมือง Kasane สาธารณรัฐบอตสวานา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566

ความทรงจำ ‘ราชสำนักอยุธยา’
เปิด ‘ทวาทศมาส’ อ่าน ‘วันเถลิงขึ้นศกใหม่’

ความทรงจำเกี่ยวกับสงกรานต์อย่างเด่นชัด ปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีการประกอบพิธีขึ้นศักราชใหม่ในราชสำนัก ได้แก่ พิธีพราหมณ์อยู่ในเทวสถานหลายแห่ง, พิธีพุทธในวัดหลวง เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดมหาธาตุ, พิธีผีใน “สนามใหญ่” (สนามหลวง)

สงกรานต์ในราชสำนักสมัยอยุธยาเป็นงานใหญ่ของราชอาณาจักร มีการพระราชกุศลตั้งสวดพระปริตร ฉลองพระเจดีย์ทราย พระเจ้าแผ่นดินสรงมุรธาภิเษก สรงน้ำพระพุทธรูป สดับปกรณ์พระอัฐิเจ้านาย เวียนเทียน จุดดอกไม้เพลิง

โคลงพระราชพิธีทวาทศมาสของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งพรรณนาถึงพระราชพิธีต่างๆ ทั้ง 12 เดือน โดยเดือน 5 มีความว่า

               กำหนดสุริยยาตรเยื้อง                รอบจักร
    เป็นที่เปลี่ยนศักราช                              ใหม่ได้
   ขึ้นสู่เมศราษีพรัก                                   พร้อมนับ ถือนา
  บังคับแห่งโหรให้                                   เรียกรู้ทั่วแดน

              วันเถลิงขึ้นศกใหม่                      มีการ
   ตั้งมุรธาภิเศกสนาน                               ราชไท้
   มวญหมู่เหล่าพนักงาน                           ถวายโสรจ สรงนา
   เตรียมอยู่คอยรับใช้                              พรักพร้อมเพรียงกัน

นอกจากนี้ ราชสำนักยังจัดการละเล่นในท้องสนามให้ราษฎรเข้าร่วม เรียกว่า ‘ออกสนามใหญ่’ มีล่อช้าง รันแทะวัวชน กระบือชน ชุมพาชน ช้างชน คนชน ปรบไก่ ปล้ำมวย ตีดั้ง ฟันแย้ง เล่นกล คลีม้า เป็นต้น

ราชกิจจานุเบกษา กรุงเทพมหานคร ในพระบรมมหาราชวัง รัตนโกสินทร์ศก 113 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ระบุใน ‘สารบาน’ ถึงพระราชพิธีในเดือน 5 อาทิ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล และพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน (ภาพจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ratchakitcha.soc.go.th)

ชาวบ้าน ‘เลี้ยงผี’ (ยุคกรุงเก่า) ยังไม่มีสาดน้ำ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของชาวบ้านยุคนั้นไม่ได้จัดงานใหญ่โตโอฬาร เพราะสงกรานต์เป็นพิธีหลวง ทว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งตรงกับเดือน 5 หน้าแล้ง ก็มีพิธีเลี้ยงผีประจําปีดังที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยความเชื่อท้องถิ่น มีการไหว้สาผีบรรพชน

และผีเครื่องมือทํามาหากิน เพื่อวอนขอความอุดมสมบูรณ์ ทั้งผีครก, ผีสาก, ผีนางด้ง หรือกระด้งฝัดข้าว, ผีลอบผีไซ เป็นต้น

ทั้งยังครึกครื้นด้วยการละเล่นต่างๆ อาทิ เข้าทรงลงผี ได้แก่ เข้าทรงผีฟ้า, เข้าทรงแม่ศรี หรือผีแม่โพสพ

สุจิตต์ระบุด้วยว่า สงกรานต์อยุธยาไม่มีการสาดน้ำเหมือนยุคนี้ มีแต่ ‘สรงน้ำพระ’ และ ‘รดน้ำดำหัว’ ผู้หลักผู้ใหญ่ ขนทรายเข้าวัด ทำบุญเลี้ยงพระ

ดังปรากฏในวรรณคดี ‘ขุนช้างขุนแผน’ ความตอนหนึ่งว่า

‘ทีนี้จะกล่าวเรื่องเมืองสุพรรณยามสงกรานต์คนนั้นก็พร้อมหน้าจะทำบุญให้ทานการศรัทธาต่างมาที่วัดป่าเลไลยหญิงชายน้อยใหญ่ไปแออัดขนทรายเข้าวัดอยู่ขวักไขว่ก่อพระเจดีย์ทรายเรียงรายไปจะเลี้ยงพระกะไว้ในวันพรุ่งนี้’

กล่าวโดยสรุปคือ สงกรานต์เป็นพิธีขึ้นปีใหม่ที่รัฐโบราณในอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับจากคติพราหมณ์ โดยเกิดขึ้นในราชสำนักก่อนแล้วจึงแพร่หลายสู่ราษฎรในภายหลัง จากสงกรานต์ของราชสํานักเดือนเมษายนกับการเลี้ยงผีเดือน 5 ของชาวบ้านนั่นเอง

สังเวยเทวดา สมโภชเครื่อง เลี้ยงโต๊ะปีใหม่
สมัยพระจอมเกล้าฯ

สำหรับหลักฐานเกี่ยวกับสงกรานต์ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ปรากฏในงานวรรณกรรม อาทิ

นิทานสงกรานต์เรื่องท้าวมหาพรหม จดจารบนจารึกในวิหารพระนอน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ท่าเตียน อีกทั้งนิราศเดือน ของเสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) กวีในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ซึ่งพรรณนาประเพณีสงกรานต์ว่ามีการสรงนํ้าพระ โดยช่วงเวลาดังกล่าวสงกรานต์เผยแพร่สู่สามัญชนอย่างกว้างขวาง มีพราหมณ์หลวงทําพิธี “มหาสงกรานต์” ในเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า, ราชสำนักมีประกาศสงกรานต์ ตามความเชื่อนิทานท้าวมหาพรหมราษฎรทําบุญเลี้ยงพระในวัด มีการละเล่นตามนัดหมายในชุมชน, พระสงฆ์ชักบังสุกุล มีการละเล่นในชุมชนคือเข้าทรงผีที่สิงในเครื่องมือทํามาหากิน เป็นต้น

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังเกิดธรรมเนียม ‘สังเวยเทวดา สมโภชเครื่อง เลี้ยงโต๊ะปีใหม่’ ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 โดยถือเป็นการเข้าสู่ปีใหม่ เป็นการผสมผสานในสิ่งที่เคยมีมาแต่เดิม (คือการสังเวยเทวดาและสมโภชลูกขุน) กับการเลี้ยงโต๊ะตามธรรมเนียมฝรั่ง จัดเป็นการเลี้ยงปีใหม่แก่พระราชวงศ์ เสนาบดี คณะทูต โดยมีการเล่นละครให้ชมด้วย

‘ศรีสัจจปานกาล’
ถือน้ำพระพิพัฒน์ฯ ในเดือนตรุษ

นอกจากนี้ ในเดือน 5 ยังมีพระราชพิธีใหญ่ที่สืบเนื่องมาแต่โบราณในราชสำนัก คือ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา หรือเดิมเรียกว่า พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล กระทำปีละสองครั้ง คือในช่วงเดือนตรุษและเดือนสารท

ข้อมูลจาก ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม’ พระนครศรีอยุธยา ระบุถึงพระราชพิธีดังกล่าวตอนหนึ่งว่า รูปแบบพิธีจัดขึ้นเพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการดื่มน้ำสาบานว่าจะจงรักภักดีและซื่อตรงต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการให้สัตย์สาบานประเภทหนึ่งที่ใช้น้ำเป็นสื่อกลาง

ส่วนในทางปฏิบัติของการถือน้ำนั้นเป็นการเอาคมศัสตราวุธต่างๆ มาทำพิธีสวด หรือสาปแช่ง โดยการอ่าน ‘ลิลิตโองการแช่งน้ำ’ แล้วเสียบลงในน้ำที่จะนำไปพระราชทานให้ดื่มเป็นหลักสำคัญ

ในสมัยอยุธยาข้าราชการถือน้ำที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาย้ายไปที่พระวิหารมงคลบพิตร เมื่อถือน้ำแล้วใช้ดอกไม้ธูปเทียนไปถวายบังคมพระเชษฐบิดร เป็นรูปเทวดาฉลองพระองค์พระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แล้วจึงเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน

ครั้นล่วงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สถานที่ประกอบพระราชพิธี คือ ‘วัดพระศรีรัตนศาสดาราม’ โดยมีการนำดอกไม้ธูปเทียนมาถวายบังคมพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 1 และถวายบังคมพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีแทนพระเชษฐบิดรด้วย

ในรัชกาลต่อๆ มา ยังมีการถวายบังคมพระอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนๆ ซึ่งเสด็จสวรรคตล่วงไปแล้วโดยลำดับ

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของความเป็นมาเป็นไปของสงกรานต์อันผสานไว้ด้วยความเชื่อหลากหลายในหลายหลากศาสนา จากวัฒนธรรมร่วม สู่ความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชาติภาษาแห่งอุษาคเนย์ภาคผืนแผ่นดินใหญ่ในวันนี้

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.