เยาวชนไทย เปลี่ยนโลก เริ่มต้นจากชุมชนและนวัตกรรม
SUB_BUA April 15, 2025 02:01 PM

ด้วยความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน “โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย” ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) จัดพิธีมอบรางวัลถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และรางวัลเกียรติคุณ ให้แก่ผู้ชนะ “โครงการลดเปลี่ยนโลก” ปีที่ 2

ซึ่งมุ่งส่งเสริมการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งให้ความสำคัญกับสถานศึกษาในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มาปรับใช้ในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย โครงการ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” และ “นวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก”

นายสุวิทย์ ไชยประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า เป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการให้ความรู้และกิจกรรมที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและขยายผลได้ในระดับประเทศ ซึ่งมีรางวัลดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ชุมชนบ้านดอนยาวน้อย เทศบาลตำบลวังหิน จ.นครราชสีมา เป็นโครงการชุมชนบ้านดอนยาวน้อยร่วมใจ ช่วยแก้ไขสภาวะโลกเดือด

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ชุมชนบ้านหัวทุ่ง องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นโครงการสามสานพลังเพื่อความยั่งยืน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ชุมชนบ้านคลองอาราง องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก้ง จ.สระแก้ว เป็นโครงการชุมชนไร้ควันต้นแบบสังคมคาร์บอนต่ำบ้านคลองอาราง

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า โครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก มีชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ความสนใจส่งใบสมัครเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นอกจากมุ่งเน้นการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนแล้ว ยังใช้พลังงานทางเลือก และการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า รวมถึงการรักษาคุณภาพแหล่งน้ำ การจัดการขยะอย่างถูกวิธี ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร ลดการเผา และอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว ซึ่งพลังของชุมชนดำเนินโครงการได้ดีมีผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ยืนยันได้ว่า “การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากชุมชน”

“ทุกคนคือแบบอย่างของความร่วมมือและความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นแรงบันดาลใจ เป็นต้นแบบที่ดีให้กับชุมชนทั่วประเทศ”

ซึ่งมีรางวัลดังนี้ รางวัลชนะเลิศ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช โครงการนวัตกรรมกังหันลมดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เสริมประสิทธิภาพด้วยเส้นใยไมซีเลียม

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี โครงการต้นไม้ประดิษฐ์สำหรับการดักจับคาร์บอน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 โรงเรียนสงวนหญิง จ.สุพรรณบุรี โครงการลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เครื่องปรับอากาศส่งผลต่อการลดค่าไฟฟ้า

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่เป็นขุมพลังหลักของประเทศในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้สนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์และพัฒนาผลงานนวัตกรรมของเยาวชน

ซึ่งเป็นการประกวดด้านนวัตกรรมที่นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาพัฒนาเป็นต้นแบบ เพื่อปรับใช้ในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญ) และนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา (สายอาชีวศึกษา) โครงการนี้ดำเนินงานโดยนาโนเทค ร่วมกับหน่วยงานภายใต้ สวทช. และพันธมิตร

นอกจากรางวัลที่ได้ “ทีมชนะเลิศ” จะได้รับการสนับสนุนต่อยอดให้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ เพื่อพัฒนานวัตกรรมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน จัดตั้งเป็นโครงการนำร่อง ณ สถานศึกษาที่ได้รับรางวัล เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้เยาวชนและชุมชนร่วมบูรณาการความรู้สู่การพัฒนานวัตกรรมที่จับต้องได้

ศ.ดร.ชูกิจเสริมว่า หวังให้เยาวชนทุกคนพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยศักยภาพและการสนับสนุนที่ถูกทิศทาง เพื่อสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยเปลี่ยนโลก มีประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านดีที่ยั่งยืน เน้นว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยให้เยาวชนและชุมชนก้าวสู่ความยั่งยืนได้

ผู้ชนะเลิศทั้ง 2 โครงการ จะได้นำเสนอผลงานแก่ผู้บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงได้ศึกษาดูงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดผลงาน

ชุมชนที่ชนะเลิศจะได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาชุมชนของตนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” ในขณะที่โรงเรียนที่ชนะเลิศจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนสร้าง “นวัตกรรมต้นแบบ” แบบใช้ได้จริง เพื่อนำไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็งต่อไป

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.