โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) เป็นเรือธงของรัฐบาลสำหรับการพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ซึ่งรัฐบาลโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พยายามผลักดันโครงการ คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2568 หลังจากตลอดทั้งปี 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เดินสายรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งจากกลุ่มจีน กลุ่มซาอุดีอาระเบีย และกลุ่มดูไบ โดยเฉพาะกลุ่มสายการเดินเรือขนาดใหญ่ Dubai Port World (DP World) โดยมีภาคเอกชนจากจีน ญี่ปุ่น และดูไบ ประสานขอลงพื้นที่เพื่อประเมินศักยภาพของโครงการแลนด์บริดจ์
15 เม.ย. 2568 – สำหรับโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการศึกษาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดย นายสุริยะ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปจัดทำร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.SEC ซึ่ง สนข.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
ด้าน นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า ในช่วงเดือนเมษายน 2568 สนข.จะจัดสัมมนาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน หลังจากนั้นจะนำความคิดเห็นทั้งหมดที่ได้รับมาประมวลสรุปเพื่อที่จะจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับสุดท้าย และส่งไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณา คาดภายในเดือนพฤษภาคม 2568 จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ และนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป มั่นใจร่าง พ.ร.บ.SEC จะผ่านการเห็นชอบและสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2568 จากนั้นจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการประมูลได้ภายในปี 2569
“โครงการแลนด์บริดจ์ จะครอบคลุม จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ที่อาจกำหนดเพิ่มเติม นอกจากจะเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ที่เชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และภูมิภาคฝั่งอันดามัน รัฐบาลยังมุ่งที่จะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค” นายปัญญา กล่าว
นายปัญญา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการพัฒนาสร้าง ท่าเรือชุมพร (แหลมริ่ว อ.หลังสวน) กำหนดให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัย โดยนำระบบออโตเมชันมาใช้เพื่อยกระดับท่าเรือสู่ Smart Port และการพัฒนา ท่าเรือระนอง (แหลมอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด) กำหนดให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์และเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามัน เพื่อเป็นฮับขนส่งทางน้ำ เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือกลุ่มประเทศแถบเอเชียใต้BIMSTEC ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
“โครงการแลนด์บริดจ์ยังได้ศึกษาความเหมาะสมเพื่อบูรณาการการขนส่งทางท่อ ทางบก และทางราง เพื่อให้เชื่อมต่อกับ 2 ท่าเรืออย่างไร้รอยต่อ โดยศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และรถไฟทางคู่ และการขนส่งทางท่อ โดยจะก่อสร้างคู่ขนานบนเส้นทางเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน” นายปัญญา กล่าว
สำหรับ กระบวนการคัดเลือกเอกชนเพื่อลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์นั้น นายปัญญา กล่าวว่าการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) คาดจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2569 ก่อนคัดเลือกผู้ลงทุนแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/2569 จากนั้นจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติโครงการภายในไตรมาส 2/2569 และสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคา คาดเริ่มดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 ในไตรมาส 3 ปี 2569 แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2573
“โครงการแลนด์บริดจ์” ถือเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่อเชื่อมโยง 2 ท่าเรือแบบไร้รอยต่อ ส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาชาติ ซึ่งเป็นการลงทุนแบบ PPP คือ ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี” นายปัญญา กล่าว.