เพื่อยกระดับการเดินทางของประชาชนผ่านระบบขนส่งสาธารณะได้สะดวก ทันสมัยมากขึ้น ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว อีกทั้งจะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ดังนั้นรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงได้เร่งเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่ค้างคาให้แล้วเสร็จ รวมถึงนโยบายเรือธง “ระบบตั๋วร่วม” เพื่อให้ประชาชนใช้ตั๋วใบเดียวขึ้นรถลงเรือและต่อรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกสบาย โดยเฉพาะ นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
15 เม.ย. 2568 – ปัจจุบัน โครงข่ายรถไฟฟ้าหลากสี หลากเส้นทาง ที่รัฐบาลดำเนินการก่อสร้างและเปิดให้บริการแล้วนั้น มีโครงข่ายทั้งสิ้น 13 เส้นทาง รวม 194 สถานี มีระยะทางรวมกว่า 276.84 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งคิดเป็นกว่า 50% ของแผนพัฒนารถไฟฟ้าทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่จะต้องดำเนินการสร้างรวมกว่า 553.41 กม. ขณะเดียวกันยังมีรถไฟฟ้าสายใหม่อีก 3 เส้นทาง ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชน ระยะที่ 2 (M-MAP 2) ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางของระบบรางในอนาคต โดยมีเป้าหมายหลักคือ ขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมมากขึ้น เพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ลดภาระจราจรบนถนน และทำให้การขนส่งมวลชนเป็นทางเลือกหลักของประชาชน
สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในปัจจุบันนั้น ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ความก้าวหน้าโดยรวม 7.52% ความก้าวหน้างานโยธา 7.96% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 3.45% ขณะที่ความก้าวหน้าโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ปัจจุบันแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างรอนำรถมาให้บริการ ส่วนงานระบบไฟฟ้ามีความก้าวหน้าอยู่ที่ 4.61% คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 71 และจะเปิดให้บริการทั้งเส้นในปี 73
2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการก่อสร้าง ซึ่ง รฟม.ได้กำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานก่อสร้างของผู้รับจ้าง ผู้รับสัมปทานอย่างใกล้ชิด ความก้าวหน้าภาพรวมงานโยธา 53.48% แบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 6 สัญญาซึ่งแต่ละสัญญามีความก้าวหน้าดังนี้ สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ มีความก้าวหน้า 69.94% สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า มีความก้าวหน้า 59.60% สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ มีความก้าวหน้า 48.24% สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง มีความก้าวหน้า 53.06% สัญญาที่ 5 ช่วงดาวคะนอง-ครุใน มีความก้าวหน้า 30.24% และ สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ มีความก้าวหน้า 39.59% ตามแผนงานคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2571
และ 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี สำหรับความคืบหน้าส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี 8 ความก้าวหน้างานโยธา อยู่ที่ 94.15% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า อยู่ที่ 93.18% ความก้าวหน้าโดยรวมอยู่ที่ 93.82% โดยคาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการทดสอบเดินรถเสมือนจริงในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2568 จากนั้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 1 เดือน ก่อนที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 19 กรกฎาคม 2568
M-MAP 2 โครงข่ายใยแมงมุม
สำหรับ แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางปี 2568 ภายใต้แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนระยะที่ 2 (M-MAP 2) นั้น นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ระบุว่า ปัจจุบันการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ และกระทรวงคมนาคมยังมีแผนที่จะผุดโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ เพิ่มเติม กรมได้วางแนวทางการดำเนินการพัฒนาการขนส่งทางรางตามนโยบายของรัฐบาลโดยศึกษาและจัดทำรายละเอียด ภายใต้ M-MAP 2 โดย4 เส้นทางเร่งด่วนที่กระทรวงคมนาคมจะเร่งผลักดัน ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. ซึ่งเส้นทางนี้ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2568 และเปิดให้บริการปี 2571
2.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20.50 กม. จากเดิมโครงการนี้แบ่งเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่ ตลิ่งชัน-ศิริราช และ ตลิ่งชัน-ศาลายา แต่ขณะนี้ได้มีการรวมเป็นโครงการเดียว ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอ ครม.พิจารณา, 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-บึงกุ่ม-ลำสาลี ระยะทาง 22.10 กม. ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ นโยบายค่าโดยสาร 20 บาท
“ทั้ง 4 โครงการเป็นส่วนหนึ่งของการขยายโครงข่ายระบบรางให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกและเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อ ขณะนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าได้อย่างราบรื่น และพร้อมรองรับความต้องการเดินทางของประชาชนในอนาคต” นายพิเชฐ กล่าว
นายพิเชฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้าอีก 3 เส้นทางที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ให้โอนภารกิจการดำเนินการในการก่อสร้างรถไฟฟ้าจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้กับกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายระบบรางมีความสอดคล้องและเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างหารือกับสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.)ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของ กทม. เพื่อรวบรวมข้อมูลรายละเอียดของแต่ละโครงการเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว ทาง รฟม.จะดำเนินการในรายละเอียด รวมถึงดูการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายเดิมที่มีอยู่ และร่างข้อกำหนดและเงื่อนไขของงาน (TOR) ส่วนการลงทุนนั้นคาดจะเป็นภาครัฐลงทุน และจ้างเอกชนเข้ามาเป็นผู้เดินรถ เพื่อให้สามารถกำหนดนโยบายด้านราคา
สำหรับรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายทางที่รับโอนมาจาก กทม. ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน เส้นทางบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 19.7 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 89,948.27 ล้านบาท โดยได้มีการศึกษารูปแบบการใช้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) แล้ว เป็นรถไฟฟ้าขนาดเบา 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.3 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 29,130 ล้านบาท โดยได้มีการศึกษารูปแบบการใช้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) และ 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีฟ้า ช่วงดินแดง-สาทร ระยะทาง 9.5 กม. ซึ่งโครงการนี้ยังไม่ได้มีการศึกษาประมาณการและรูปแบบการลงทุนของโครงการ
“รถไฟฟ้าทั้ง 3 สายทางถือเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 หรือ M-MAP 2 ซึ่งคอนเซปต์จะเป็นเหมือนเส้นทางใยแมงมุมที่เข้ามาเสริมเส้นทางหลักที่มีอยู่แล้ว” นายพิเชฐ กล่าว
ปักธง ก.ย.รถไฟฟ้า 20 บาททุกเส้นทาง
สำหรับนโยบายเรือธง “รถไฟฟ้า 20 บาททุกเส้นทาง” นั้น นาย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ระบุว่า ปัจจุบันได้ดำเนินการในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เพื่อลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน จากผลการดำเนินนโยบายดังกล่าวพบว่า ได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี สะท้อนได้จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาที่มีสถิติการมีผู้ใช้บริการสูงที่สุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นๆ ประกอบด้วย สายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง สายสีชมพู สายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์นั้น นายสุริยะ ยืนยันว่า จะประกาศใช้ในวันที่ 30 กันยายน 2568 เป็นต้นไปตามที่เคยกำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการนโยบายดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 8 สายทาง โดยในระยะแรกผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จำกัดเฉพาะผู้ที่มีเลขบัตรประชาชนไทย 13 หลักเท่านั้น และต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งคาดจะเปิดให้ลงทะเบียนในช่วงเดือนสิงหาคม 2568 โดยยืนยันอีกว่าการลงทะเบียนจะไม่ยุ่งยาก และไม่ซับซ้อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน
“การลงทะเบียนใช้มาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐนั้น เพื่อยืนยันตัวตน และเพื่อให้ระบบสามารถเคลียร์ค่าใช้จ่ายการเดินทางข้ามสายระหว่างผู้ให้บริการแต่ละรายได้ เช่น หากจะใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สามารถชำระค่าโดยสารผ่านบัตร MRT Plus และบัตร EMV ส่วนถ้าจะใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง สายสีชมพู จะต้องชำระค่าโดยสารผ่านบัตร Rabbit โดยไม่ว่าจะใช้บริการกี่สายทาง หรือข้ามสายทางทุกระบบ จะมีค่าโดยสารเพียง 20 บาทเท่านั้น” นายสุริยะ ระบุ
เฟส 2 สแกน QR Code ผ่านโทรศัพท์มือถือ
นายสุริยะ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บัตรโดยสารที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ในช่วงแรกของการดำเนินนโยบาย ผู้โดยสารยังคงสามารถใช้บัตรโดยสารที่ใช้อยู่เดิมได้ เพียงแต่ต้องลงทะเบียนบัตรเหล่านั้นผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐก่อนจึงจะได้รับสิทธิ์ 20 บาทตลอดสาย ในส่วนของ การพัฒนาในระยะที่ 2 เริ่มดำเนินการภายในปี 2569 จะมีการเปลี่ยนไปใช้ระบบสแกนชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายผ่านช่องทาง QR Code บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะทำให้ในอนาคตไม่จำเป็นต้องใช้บัตรโดยสารอีกต่อไป
ขณะที่ การชดเชยรายได้ให้เอกชนผู้ประกอบการนั้น ประเมินว่าจะต้องใช้ประมาณปีละ 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากเงินรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือกองทุนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 16,000 ล้านบาท มาชดเชยรายได้ ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ ซึ่งจะเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนกันยายน 2568 แน่นอน
คงต้องรอลุ้นกันว่า 20 บาทตลอดสายนั้น จะได้ใช้ในเดือนกันยายน 2568 นี้ หรือจะเป็นแค่แม่สายบัวแต่งตัวรอเก้อเช่นที่ผ่านๆ มา.