นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่เริ่มมีฝนตกในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มี เห็ดป่า หรือ เห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งที่กินได้และเป็นเห็ดพิษ โดยเฉพาะเห็ดในระยะดอกตูม ซึ่งมักมีลักษณะคล้ายกันจนไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่าได้ หากไม่มีความรู้หรือความชำนาญอาจทำให้เข้าใจผิดและนำเห็ดพิษมาประกอบอาหารจนเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานถึงเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่พบบ่อย คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือ เห็ดไข่ตายซาก เห็ดพิษชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับเห็ดระโงกขาว หรือ เห็ดไข่ห่าน ซึ่งเป็นเห็ดกินได้ เห็ดระโงกขาว จะมีรอยขีดสั้นๆ เหมือนกับซี่หวีที่ผิวรอบขอบหมวก เมื่อผ่าก้านจะเห็นว่าก้านกลวง เห็ดระโงก พบมากช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม มักพบในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ หรือป่าที่มีลักษณะค่อนข้างโปร่ง มีแสงแดดส่องถึงพื้นล่าง และที่สำคัญ คือ มีไม้วงศ์ยางนา เช่น ยางนา ตะเคียน กระบาก รัง พะยอม
หลังกินเห็ดระโงกพิษ มักไม่เกิดอาการทันที แต่จะมีอาการหลัง 4 - 6 ชั่วโมงไปแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์ แม้อาการจะดีขึ้นในช่วงแรกก็ตาม เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที พิษอาจทำลายตับและทำให้เสียชีวิตได้แม้กินเพียงดอกเดียว
ส่วนเห็ดถ่านเลือด ดอกจะมีขนาดใหญ่และหนา หลังดอกมีสีดำเล็กน้อย เมื่อหักก้านเนื้อสีขาวจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีแดงชาวบ้านจึงเรียกว่าเห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายเห็ดถ่านใหญ่และเห็ดถ่านเล็ก พบมากช่วงเดือนกรกฎาคมมักขึ้นใต้ต้นเหียง (ซาด) และต้นพะยอม หากรับประทานเข้าไปภายใน 2 ชั่วโมงจะเกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หลังจาก 6 ชั่วโมง จะมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย จนกระทั่งตับและไตวายและเสียชีวิตได้
สำหรับอาการหลังกินเห็ดพิษมีตั้งแต่เล็กน้อย ได้แก่ วิงเวียน อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวจนถึงอาการรุนแรง ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิต การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากที่บ้านมีผงถ่านกัมมันต์หรือผงคาร์บอนให้รีบกินเพื่อดูดซับพิษและจิบน้ำเพื่อชดเชยของเหลวที่เสียไป ที่สำคัญควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด พร้อมแจ้งประวัติการกินเห็ดและนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย นอกจากนั้น ไม่ควรกระตุ้นให้อาเจียน เช่น การล้วงคอหรือกินไข่ขาวดิบเพราะอาจทำให้สำลัก เกิดการติดเชื้อ เกิดแผลในคอและช่องปาก รวมถึงความดันต่ำหรือระดับเกลือแร่ผิดปกติจากการอาเจียนที่มากเกินไป เนื่องจากพิษจากเห็ดทำให้อาเจียนมากอยู่แล้ว
นายคารม ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเก็บและกินเห็ดป่า เห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติที่ไม่รู้จักหรือไม่แน่ใจว่ากินได้ และไม่เก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมี เนื่องจากเห็ดจะดูดซับพิษจากสารเคมีมาไว้ในดอกเห็ด รวมถึงไม่กินเห็ดดิบ เช่น เห็ดน้ำหมาก หรือกินเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึก หรือเห็ดถั่วที่ขึ้นตามธรรมชาติ เพราะจะทำให้เกิดพิษได้ พึงระลึกเสมอว่าเห็ดพิษทุกชนิดแม้ทำให้สุกด้วยความร้อนก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ และยึดหลัก “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน” หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422