แพทยสภา พร้อมถก สธ. แก้ปม "หมออินเทิร์น" แห่ลาออก ยอมถูกปรับ ไม่ใช้ทุนต่อ
ข่าวสด April 16, 2025 12:40 AM

แพทยสภา พร้อมถก สธ. แก้ปม “หมออินเทิร์น” แห่ลาออก ยอมถูกปรับ ไม่ใช้ทุนต่อ ที่ผ่านมาไหลออกระบบต่อเนื่อง ชี้จุดปรับปรุงทั้งภาระงาน คุณภาพชีวิต

ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมทำหนังสือขอหารือแพทยสภา เพื่อเสนอปรับปรุงวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ของโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ(อินเทิร์น) ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และตอบสนองกับการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ของ สธ. เนื่องจากหลักเกณฑ์เดิมใช้มา 20 ปี หลังจากมีกระแสข่าวแพทย์อินเทิร์น ปี 1 จำนวน 10 คน จาก 16 คน ขอลาออกจากโรงพยาบาล (รพ.) บึงกาฬ จ.บึงกาฬ นั้น

  • รพ. ในบึงกาฬวุ่น “หมออินเทิร์น” แห่ลาออก สธ.สั่งจัดหมอในเขตไปหมุนเวียนแทน

วันที่ 15 เม.ย. 2568 พล.อ.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยว่า แพทยสภาพร้อมรับคำหารือของ สธ. เพื่อแก้ปัญหาแพทย์ใช้ทุนปี 1 หรือที่เรียกว่า อินเทิร์น 1 หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ซึ่งกรรมการแพทยสภาในอดีตได้ร่วมกับปลัด สธ. ซึ่งเป็นกรรมการแพทยสภาเช่นกัน วางระบบเพิ่มพูนทักษะไว้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับแพทย์จบใหม่เป็นเวลา 1 ปี ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 114 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นโรงพยาบาลในสังกัด สธ.เป็นหลัก ก่อนไปดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ในปีที่ 2 และ ปี 3 ตามที่ สธ.เป็นผู้ดูแลจัดสรรตามความขาดแคลน

พล.อ.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ

พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าวต่อว่า จากการติดตามพบว่า แพทย์ใช้ทุนส่วนใหญ่มักจะลาออกหลังจบเพิ่มพูนทักษะ หรือ อินเทิร์น ปี 1 ไม่ไปใช้ทุนต่อในปี 2 และปี 3 ในฐานะข้าราชการ แต่ยอมจ่ายค่าปรับและลาออก ตามที่ นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุไว้จริง ทำให้ รพช.ขาดแคลนแพทย์ เช่นเดียวกับกรณีของ จ.บึงกาฬ

“การทบทวนเพื่อหาจุดปรับปรุง ทั้งจำนวน สัดส่วน ปัญหาภาระงาน การเรียนต่อ และคุณภาพชีวิตแพทย์ น่าจะช่วยให้แพทย์อินเทิร์นอยู่ใช้ทุนได้ยาวนานขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แพทยสภาพร้อมรับคำหารือ” พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากที่ สธ.ส่งหนังสือไปถึงแพทยสภา คาดว่าจะมีการหารือร่วมกันได้เมื่อใด พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าวว่า ทางแพทยสภาขอรอดูข้อหารือ และรายละเอียด ก่อนนำเสนออนุกรรมการแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่เกี่ยวข้อง และจะกำหนดวันร่วมกันกับทาง สธ.ต่อไป แต่ยืนยันว่า แพทยสภามีความพร้อมที่จะพูดคุยในเรื่องนี้ เพราะมีข้อมูลที่รวบรวมได้จากการติดตามแพทย์อินเทิร์น ปี 1 ในพื้นที่ต่างๆ

“แพทยสภาให้ความสำคัญกับแพทย์จบใหม่ แพทย์ใช้ทุนทุกคน โดยเฉพาะที่อยู่โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยจะต้องติดตาม ทั้งภาระงาน การอยู่เวร ค่าตอบแทน การดูแลของอาจารย์และรุ่นพี่ และคุณภาพชีวิต ในปัจจุบันมีการจัดทีมดูแลติดตาม 35 ทีม ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยมีกรรมการจากโรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง เป็นกรรมการติดตามแพทย์เพิ่มพูนทักษะด้วย” พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าว

ขณะที่ นพ.ภูวเดช กล่าวว่า ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ สธ.จะทำหนังสือถึงแพทยสภา เพื่อขอหารือ โดยอาจให้มีการฝึกเพิ่มพูนทักษะให้เรียบร้อยก่อนเรียนจบและจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ เมื่อ สธ.จัดสรรแพทย์จบใหม่ไปตามความขาดแคลนของพื้นที่แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการอบรมเรียนรู้เหมือนกับข้าราชการวิชาชีพอื่นๆ ที่บรรจุใหม่

นพ.ภูวเดช กล่าวต่อว่า โครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะได้ดำเนินการมา 20 ปี แต่ยังมีผลกระทบการจัดสรรแพทย์ของ สธ. ไม่สามารถจัดสรรแพทย์ไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนแพทย์ได้ และยังคงมีปัญหาแพทย์ไหลออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง

“การปรับรูปแบบของการฝึกเพิ่มพูนทักษะแพทย์ใหม่ จะยังคงมาตรฐานของแพทยสภา และตอบสนองการให้บริการตามนโยบายของ สธ.ไปพร้อมกัน ที่สำคัญคือสามารถแก้ไขความขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุขได้อย่างตรงจุด และประชาชนยังได้รับบริการที่ดีมีประสิทธิภาพสูงสุด” นพ.ภูวเดช กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.