ในยุคที่เกษตรกรต้องเผชิญทั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากทั้งในและนอกประเทศ ซินเจนทา ประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการ “เพาะดี กินดี” ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม และอ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ให้กับเกษตรกร โดยผู้ที่เข้าร่วมได้รับการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และเข้าถึงนวัตกรรมที่จำเป็นจากนักวิชาการของซินเจนทา
ช่วยให้สามารถวางแผนการปลูก พัฒนาคุณภาพผลผลิต และเพิ่มปริมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
จากจุดเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จนี้ ซินเจนทาจึงเดินหน้าขยายผลโครงการสู่ภาคเหนืออย่างต่อเนื่องในปีที่ 2 เพื่อต่อยอดความสำเร็จและสร้างโอกาสให้เกษตรกรในวงกว้างได้พัฒนาศักยภาพ เพิ่มผลผลิต และยกระดับคุณภาพชีวิต และอาชีพได้อย่างยั่งยืน
“เพาะดีกินดี” ไม่ได้เป็นเพียงโครงการส่งเสริมการเกษตรทั่วไป แต่เป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับเกษตรกรเพื่อให้สามารถปรับตัวกับโลกการเกษตรยุคใหม่ได้อย่างมั่นใจ โดยมุ่งเน้นการถ่ายทอดทักษะ ความรู้ และความเข้าใจที่ครอบคลุม
ไม่เพียงแต่ในเรื่องของการจัดการและการวางแผนการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความเข้าใจด้านการตลาด เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนด้วยตนเอง
โดยน.ส.พิสมัย พฤกษาฉิมพลี สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจผักปลอดภัยบ้านห้วยตอง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนปลูกแบบดั้งเดิมตามฤดูกาล ทำให้ช่วงฤดูฝนผักจะไม่สวยเท่าฤดูหนาว ราคาก็ไม่ดี
พอได้เข้าร่วมโครงการฯ ตอนนี้เราปลูกผักได้ทั้งปี มีโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ ผลผลิตสวย นอกจากนี้ การได้มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) ก็ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของเราด้วย ทำให้ขายได้ราคาดีกว่าผักท้องตลาดทั่วไป คนบริโภคปลอดภัย คนปลูกก็ปลอดภัย ตอนนี้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก
“จากเดิมที่เคยมีรายได้ไม่แน่นอน ทุกวันนี้สามารถวางแผนรายรับรายจ่ายได้ และมีเงินเหลือเพื่อนำไปต่อยอดการเกษตรของตัวเอง”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการ “เพาะดีกินดี” ได้จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการ เวิร์กช็อป การศึกษาดูงาน และการให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จากซินเจนทา ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการพัฒนาผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และเข้าถึงช่องทางการตลาดที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
นายฐณธรณ์ ชัยการ จากกลุ่มวิสาหกิจผักปลอดภัยช่างเคิ่งบน อ.แม่แจ่ม บอกว่า “เมื่อก่อนขายของแบบวันต่อวัน ต้องลุ้นตลอด พอเข้าร่วมโครงการ เราเริ่มรู้ว่าต้องปลูกอะไรให้ตรงกับที่ตลาดต้องการ วางแผนปลูกล่วงหน้าได้ ทราบราคาล่วงหน้าที่เป็นราคาหน้าฟาร์มและเป็นธรรม และมั่นใจว่ามีตลาดรับซื้อที่แน่นอน”
โครงการ “เพาะดีกินดี” ช่วยให้เกษตรกรเข้าใจว่าตนเองไม่ใช่แค่ “ผู้ผลิต” แต่คือ “ผู้ประกอบการทางการเกษตร” ที่สามารถวางแผนธุรกิจได้อย่างรอบด้าน จากความสำเร็จในปีแรก ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมมากกว่า 640 ราย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 175 ไร่ ในเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน และน่าน สร้างรายได้รวมกลับคืนสู่ชุมชนแล้วกว่า 1.6 ล้านบาท
ขณะที่น.ส.วรรณภร วัฒนาเกษมสัตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนและบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นการเติบโตและพัฒนาของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ “เพาะดีกินดี” อย่างต่อเนื่อง การที่เกษตรกรไม่เพียงแต่มีความรู้ในการผลิต แต่ยังเข้าใจกลไกตลาด กลไลการขนส่งผลผลิต และสามารถวางแผนการขายได้ด้วยตนเอง เกษตรกรบางรายสามารถปลดหนี้ได้ มีเงินเหลือเก็บ มีความมั่นใจในอาชีพของตัวเอง และไม่ต้องพึ่งพาคนกลางแบบเดิมๆ อีกต่อไป ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรของไทยอย่างยั่งยืน”
ในปีที่ 2 นี้ โครงการ “เพาะดี กินดี” ยังคงมุ่งมั่นที่จะขยายผลและพัฒนาเนื้อหาให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไปของภาคการเกษตร โดยเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร การสร้างเครือข่ายเกษตรกร และการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงตลาดในวงกว้าง พร้อมวางแผนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย เช่น พื้นที่ภาคอีสาน
ด้าน นายดิเรก เครือจินลิ ผู้ประสานงานโครงการสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ มูลนิธิรักษ์ไทย หนึ่งในพันธมิตรของโครงการฯ กล่าวเสริมว่า “การรวมตัวเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนช่วยให้เกษตรกรแลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาทักษะการทำการเกษตร รวมไปถึงการรู้จักตลาด ทั้งหมดนี้คือหัวใจของความยั่งยืน เกษตรกรหลายรายสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าสองเท่าตัว และโครงการนี้ก็แสดงให้เห็นชัดว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริงจากจุดนี้”
โครงการ “เพาะดีกินดี” ไม่ได้ทำงานเฉพาะกับเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อาหารอย่างครบวงจร ทั้งผู้รับซื้อ ผู้แปรรูป ไปจนถึงผู้ประกอบการด้านการผลิตอาหารที่ต้องการผลผลิตปลอดภัยไร้สารตกค้าง และมีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และสร้างโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถจับมือเดินไปด้วยกัน เพื่อขับเคลื่อนการเกษตรสมัยใหม่อย่างยั่งยืน
สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Syngenta