พิชัย เผยผลหารือ ‘ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ’ รับมือภาษีทรัมป์ แม้ยังไม่มีมาตรการออกมา แต่เตรียมพร้อมเรื่องสภาพคล่องที่อาจส่งผลกระทบตลาดเงิน ตลาดทุน – ย้ำ พร้อมออกมาตรการและจะหารือกับ ธปท.ใกล้ชิด
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมร่วมกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. เพื่อหารือและรับฟังข้อมูลการเจรจากับสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล
โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกฯ ในฐานะประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
จากนั้น นายพิชัย แถลงผลการประชุมกับ ธปท. ว่าที่ประชุมได้พิจารณาผลที่จะเกิดขึ้น และสิ่งที่สหรัฐฯต้องการ วันนี้จึงได้มาติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว แต่ยังไม่ทราบว่าจะจบลงอย่างไร เพราะสถานการณ์ยังสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกวัน
สิ่งที่เราต้องดู การปรับการค้า การนำเข้า การส่งออก กติกาที่เปลี่ยนไป วันนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน เฉพาะในเรื่องของตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรและเรื่องค่าเงิน เป็นไปทิศทางที่คาดเดาได้ลำบาก
นายพิชัย กล่าวอีกว่า วันนี้จึงต้องมานั่งพูดคุยกันว่าจะมีกรณีใดเกิดขึ้นกับประเทศไทยบ้าง เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะกระทบกับภาคธุรกิจและภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะผู้ส่งออก ดังนั้นจะต้องหามาตรการที่เหมาะสมและวางแนวทางในการรับมือกรณีที่ร้ายแรงด้วย เพราะเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นมีผลต่อผู้ส่งออก ซึ่งการส่งออกคงชะลอลง และมีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน และหนี้ที่ครบกำหนดชำระ
รวมถึงการนำเข้า สิ่งต่างๆเหล่านี้ ปัญหาที่ตรงกันคือ เรื่องของสภาพคล่อง ดังนั้นวันนี้จึงยังไม่ได้ข้อยุติ ว่าจะดำเนินมาตรการใด และคงต้องมอนิเตอร์ติดตามต่อไป
“วันนี้คงไม่มีใครบอกได้ว่า หยิบมาตรการไหนดี ซึ่งมาตรการต่างๆในอดีตมีเยอะ แต่สิ่งที่เราจะทำ เราจะทำงานใกล้ชิดมากขึ้น แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และจะเจอกันบ่อยขึ้น เพื่อดูว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป มีอะไรบ้างกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน สิ่งต่างๆเหล่านี้ต้องดู เพื่อหามาตรการชัดเจนและมากำหนดร่วมกันที่จะแก้ไข”
นายพิชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย จะติดตามสถานการณ์ต่อไปด้วย ทั้งเรื่องดอกเบี้ย อัตราการแลกเปลี่ยน และปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่อง เพื่อนำข้อมูลมาประกอบในการเสนอมาตรการต่างๆ
ส่วนเรื่องดอกเบี้ยจะมีส่วนช่วยเรื่องสภาพคล่องหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า เรื่องดอกเบี้ยนโยบายเป็นเรื่องไม่ควรไปพูดถึง แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ต้องมีการมอนิเตอร์ ซึ่งจะมีการประชุมอาทิตย์หน้าด้วย
เมื่อถามว่า จะเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ เมื่อใดนั้น นายพิชัย ระบุว่า ขอเตรียมตัวให้ชัดๆ และจะเปิดเผยวันเดินทางอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนจะนำผลการหารือของ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาอาเซียนทั้งหมด มาเป็นส่วนหนึ่งในประเด็นที่จะนำไปเจรจาหรือไม่ นายพิชัย ระบุว่า คงไม่ เพราะการคุยรอบแรกคงไม่มีการพูดคุยถึงขนาดนั้น
แต่ในอาเซียนด้วยกัน คงจะมีการแลกเปลี่ยนร่วมกัน เพราะปัญหาของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน พร้อมยกตัวอย่างว่า สินค้าบางอย่างที่ส่งออกไปสหรัฐฯ แต่ส่งออกไปอาเซียนก่อนจะส่งไปสหรัฐฯต่อ จึงต้องดูเรื่องพวกนี้ด้วยและพูดคุยกันเพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมด ซึ่งต้องแก้ในส่วนของเราก่อน
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ความสนใจของสหรัฐฯ อยู่ที่เรื่อง non-tariff หรือ มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ที่ไม่เอื้อต่อการนำเข้าและส่งออก ซึ่ง non-tariff เป็นเรื่องกว้าง แต่เรื่อง Tariff หรือ ภาษีศุลกากรเป็นเรื่องเล็ก เพราะเป็นไปตามกลไกอยู่แล้ว ฉะนั้นแต่ละประเทศต้องปรับไปตามนั้น และต้องมาดูแลแก้ไข ซึ่งจะมีการเชิญอีกหลายหน่วยงานมาพูดคุยเพิ่มเติม