ทวี ขีดเส้น 2 สัปดาห์ สรุปผลสอบปลอมลายเซ็นวิศวะคุมงาน ‘อมร’ ย้ำปล่องลิฟต์ชนวนเหตุหลักตึกสตง.ถล่ม ด้าน ‘ซินเคอหยวน’ จ่อแจง 21 เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่บริเวณจุดเกิดเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม เขตบางซื่อ กทม. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เข้าประชุมติดตามความคืบหน้าเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดี 2 บริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ในคดีนอมินี รวมถึงประเด็นที่มีการปลอมแปลงลายเซ็นของวิศวกรระดับสูงในการคุมงานก่อสร้างอาคาร สตง.ที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ
พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ขณะนี้ทุกหน่วยงานต้องทำงานบูรณาการร่วมกันในการค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ภายในซากอาคาร สตง. ด้านกฎหมายเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ตั้งข้อหาไว้ เบื้องต้นคือข้อหาประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต ซึ่งเป็นคดีอาญา ส่วนดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษในคดีนอมินี ก่อนจะขยายผลไปคดีการเสนอราคาวัสดุต่อรัฐ ถ้าหากพบความผิดที่เกี่ยวกับภาครัฐ ต้องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาดูแล
“การลงพื้นที่ของดีเอสไอ จะต้องได้ทั้งพยานบุคคล และพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ รวมถึงเอกสารคู่สัญญาสำคัญ แบ่งเป็น 4 สัญญา คือ 1.สัญญาการออกแบบโครงสร้าง ซึ่งกรมโยธาไม่ได้เป็นคนออกแบบ แต่มีบริษัทเอกชนออกแบบ 2.สัญญาควบคุมงาน 3.สัญญาการเปลี่ยนแบบ และ 4.สัญญาการก่อสร้าง ส่วนอีก 3 สัญญาอื่นๆ ยังอยู่ในระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง” พ.ต.อ.ทวีกล่าว
พ.ต.อ.ทวีกล่าวอีกว่า ขณะนี้การทำงานของดีเอสไอเป็นเอกภาพ คล่องขึ้น จึงลงพื้นที่หาข้อมูล โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างตัวอาคารเข้าร่วมด้วย เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมด หากทุกอย่างได้ไขความจริงออกมาได้ จะบ่งบอกถึงการทำงานของทางเจ้าหน้าที่ให้ความยุติธรรมแก่ทุกคน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนในการทำงานของทางเจ้าหน้าที่
“ส่วนการปลอมแปลงลายเซ็นของนายสมเกียรติ ชูแสงสุข วิศวกรระดับสูงที่ถือ 2 คุณวุฒิ มาเป็นผู้ควบคุมงานการสร้างอาคาร สตง.ดีเอสไอได้รับข้อมูลมาหมดแล้ว ขณะนี้ได้ส่งพนักงานสอบสวนตรวจสอบลายเซ็นของจริงและของปลอม เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง คาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ก่อนจะนำไปประกอบสำนวนคดีนอมินี”พ.ต.อ.ทวีกล่าว
ด้านนายอมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวถึงโครงสร้างอาคาร สตง.ที่ถล่มจากกรณีเหตุแผ่นดินไหวใน กทม.ว่า ประเด็นที่มองอยู่ขณะนี้ หากต้องการดูต้นตอสาเหตุของตึกถล่มครั้งนี้ต้องดูว่าจุดเริ่มต้นของการถล่มอยู่ที่จุดไหน ซึ่งวันแรกๆ ของการการเกิดเหตุอาจจะยังมองภาพไม่ชัด และแต่ละฝ่ายก็มองกันคนละมุม
นายอมรกล่าวอีกว่า ต่อมาเริ่มมีการนำคลิปวิดีโอหลายมุมเข้ามาปะติดปะต่อ แล้วก็ไล่เฟรมไปวินาทีต่อวินาที จะเห็นลำดับ พบว่าที่จริงแล้วความเสียหายเกิดจากตัวผนังปล่องลิฟต์ก่อน โดยผนังปล่องลิฟต์เป็นโครงสร้างหลักที่รองรับตัวอาคาร พอตรงนี้พังก็จะส่งผลให้ตัวแกนของอาคารถล่มลงมาพังทลาย และทำให้ตัวอาคารที่เหลือถล่มลงมาทั้งหมด
“ตอนแรกค่อนข้างแปลกใจ เพราะปล่องลิฟต์ควรจะเป็นส่วนแข็ง เนื่องจากรับน้ำหนักไว้เยอะมาก หลังจากเหตุแผ่นดินไหว ไปสำรวจอาคารต่างๆ ใน กทม.พบว่ามีบางอาคารพบความเสียหายเล็กน้อยในตัวผนังปล่องลิฟต์ บวกกับหลักฐานวิดีโอของตึก สตง. ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการตั้งข้อสังเกตว่าผนังปล่องลิฟต์จะเป็นชนวนสาเหตุหลักของการถล่มของตึก สตง.ครั้งนี้หรือไม่ และถ้าใช่จุดนี้พังได้อย่างไร” นายอมรกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ซินเคอหยวน โดยนายเฉิน เจี้ยนฉี และนายสมพัน ปันแก้ว กรรมการบริษัท ส่งหนังสือถึงสื่อมวลชน แจ้งกำหนดการแถลงข่าว ข้อเท็จจริงกรณีบริษัทถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณีผลิตภัณฑ์เหล็กเส้น ที่ผลิตขึ้นโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยอ้างถึงหนังสือลงวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ SKY พิเศษ 2/2568 ตามที่บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด ได้แจ้งเลื่อนการแถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็ก ว่าบริษัทจะจัดการแถลงข่าวในวันที่ 21 เมษายน เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ