คับแค้น ทางใจ ผสาน ยากไร้ ทางวัตถุ สู่ การลุกขึ้น‘สู้’
GH News April 17, 2025 02:20 PM

คับแค้น ทางใจ ผสาน ยากไร้ ทางวัตถุ สู่ การลุกขึ้น‘สู้’

ยุทธนิยาย “สามก๊ก” จากการเรียบเรียงของหลอกว้านจงอาจให้น้ำหนักแห่งความเดือดร้อนของราษฎรมาจาก 1 ฮ่องเต้ 1 เหล่าขันทีที่เข้าไปมีบทบาทเป็นอย่างสูงอยู่ในราชสำนัก ผ่านทั้งไทเฮา ฮองเฮา และฮ่องเต้

“แลพระเจ้าเลนเต้นั้นเชื่อถือถ้อยคำเตียวเหยียงเรียกเป็นบิดาเลี้ยง ราชการกฎหมายแผ่นดินก็ผันแปร อาณาประชาราษฎรทั้งปวงได้รับความเดือดร้อน

เกิดโจรผู้ร้าย ปล้นสะดมเป็นอันมาก”

ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ระบุผลสะเทือนจาก “วิกฤตปัญญาชน” ครั้งที่ 2 ซึ่งยืดเยื้อยาวนานกว่า 20 ปี ได้สั่นคลอนราชสำนักอย่างรุนแรง

“ตำแหน่งขุนนางสำคัญถูกจัดสรรให้กับพรรคพวกของขันที ฮั่นตะวันออกสูญเสียขุนนางตงฉินเข้าสู่ยุคมืดที่นับวันมีแต่ถดถอยเสื่อมโทรม สารพัดปัญหารุมเร้าบ้านเมือง”

ประชาชนทุกข์ยาก ถูกบีบคั้นจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจจึงถูกปลุกระดมเข้าร่วมกลุ่ม “กบฏโพกผ้าเหลือง จับอาวุธก่อจลาจล”

นั่นคือ รากที่มาของ “กบฏชาวนา” ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

เมื่ออ่าน “ประวัติศาสตร์จีน” ของ ทวีป วรดิลก ก็ได้ภาพที่สมบูรณ์และรอบด้านมากยิ่งขึ้นก่อนและหลังการลุกขึ้นสู้ของ “กบฏโพกผ้าเหลือง”

โดยเริ่มตั้งแต่รัชสมัยอานตี้ (ค.ศ.106-129)

ได้มีเหตุร้าย คือ การก่อความไม่สงบขึ้นอันเนื่องมาจากความอดอยากยากจนอย่างแสนสาหัสของชาวนามาโดยตลอดจนกระทั่งถึงรัชสมัยของหลิงตี้

ประมาณว่า ในชั่วเวลา 70-80 ปี มีการก่อความไม่สงบของชาวนาอุบัติขึ้นถึงกว่า 100 ครั้ง แต่ละครั้งจำนวนชาวนาที่ลุกฮือขึ้นมีตั้งแต่ 200-300 คน จนถึง 2,000-3,000 คน

แต่ในบางครั้งมีถึง 10,000 คนทีเดียว

แม้แต่ชาวเฉียงที่เป็นชนชาติส่วนน้อยทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือตลอดจนชนเผ่าต่างๆ ทางตะวันตกเฉียงใต้ก็จับอาวุธต่อต้านการกดขี่ของทางการบ้านเมืองกัน และการต่อต้านนี้ก็มีอยู่เป็นประจำไม่มีวันยุติ

ในที่สุดการลุกฮือขึ้นของชาวนาก็มาถึงขั้นสุดยอดด้วยการก่อการกบฏจำนวนมากเป็นแสนๆ คนในปี ค.ศ.184

ที่เรียกกันว่า “กบฏโพกผ้าเหลือง” หรือ “หวงจิน”

โดยที่กบฏพวกนี้ซึ่งมีจำนวนเป็นหมื่นเป็นแสนได้จับอาวุธบุกเข้าเข่นฆ่าขุนนางตามเขตปกครองต่างๆ เสียมากมาย จนอาจกล่าวได้ว่า กบฏโพกผ้าเหลืองเป็นพลังสำคัญในการโยกคลอนราชวงศ์ฮั่นตะวันออกจนถึงรากฐาน

ยังผลให้อาณาจักรใหญ่ยิ่งต้องแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่าอยู่หลายร้อยปีในภายหลัง

นอกจากความไม่พอใจต่อการปกครองของฮ่องเต้ที่ถูกควบคุมโดยขันทีแล้ว ทวีป วรดิลก ยังนำเสนอ “ข้อมูล” ในลักษณะพิเศษออกไป

นั่นก็คือ

นับแต่ปี ค.ศ.170 เป็นต้นมา ได้เกิดอุทกภัยตามบริเวณตอนล่างของแม่น้ำเหลืองซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม

ทำให้ชาวนาที่ต้องอดอยากยากจนอยู่แล้วต้องปราศจากที่ทำกิน ต้องอพยพหนีความอดตายออกร่อนเร่ไปเป็นจำนวนมาก พวกชาวนาเหล่านี้ระเหเร่ร่อนกันไปเป็นหมู่เหล่า

เป็นที่พรั่นพรึงแก่ผู้พบเห็น

ในเมื่อปรากฏการณ์ทางสังคมเป็นเช่นนี้ย่อมบ่อนทำลายความสงบสุขโดยทั่วไปในหลายๆ ท้องที่ด้วย

เนื่องจากภายหลังอุทกภัยแล้วได้เกิดโรคระบาดมีผู้เสียชีวิตกันเป็นจำนวนมากตามมาอีก โดยเฉพาะตามบริเวณพรมแดนของซานตงและเหอหนานได้มีผู้มีความรู้ในทางรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ชาวบ้านโดยทั่วไป

การณ์ดำเนินไปอย่างที่ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ตั้งข้อสังเกต

เมื่อสังคมเข้าสู่ยุคเสื่อม ราชสำนักตั้งแต่ฮ่องเต้ลงมาจนถึงขุนนางท้องถิ่นจ้องแต่ขูดรีดกอบโกยทรัพย์สินจากราษฎรซึ่งมีชีวิตรันทดไม่ต่างจากโคกระบือ

ทำงานเหน็ดเหนื่อย แต่ไม่มีอาหารตกถึงท้อง

จนมีบันทึกไว้ว่า ชาวบ้านขาดแคลนอาหารถึงกับต้องกินเนื้อคนด้วยกัน ชาวบ้านผู้ไม่ยอมทนทุกข์ต่อโชคชะตาหันมาจับอาวุธต่อสู้กับทางการ

“กบฏโพกผ้าเหลือง” จึงก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้สถานการณ์เช่นนี้

หากประมวลสาเหตุอันเป็นมูลเชื้อนำไปสู่ “กลียุค” ครั้งใหญ่ทั้งในทางการเมือง การ ทหารและในทางสังคมอย่างที่เรียกว่ายุค “สามก๊ก” ได้ปรากฏสัญญาณเตือนให้เห็นเป็นระยะ

ที่สำคัญเป็นอย่างมากย่อมเป็นไปอย่างที่ สังข์ พัธโนทัย สรุป “หลักบ้าน หลักเมือง คลอนแคลน”

หลักเมือง 1 ซึ่งเห็นอย่างเด่นชัด คือ การเล่นพวกพ้อง ก่อตั้งเป็น “กลุ่ม”

หลักเมือง 1 ซึ่งเห็นอย่างเด่นชัดตามมา คือ การทุจริต คอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง

โดยเฉพาะผลสะเทือนจาก “แก๊งสิบคน” ของเหล่าขันที

ดังที่ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประมวลสรุปมาให้เห็นในเรื่องการกอบโกยหาเงินหาประโยชน์อย่างฉ้อฉล

เปิดให้ซื้อขายตำแหน่ง “ขุนนาง” ในราชสำนักอย่างเป็นทางการ โดยขุนนางระดับมณฑลราคา 20 ล้านตำลึง ระดับอำเภอถูกหน่อย 4 ล้านตำลึง ส่วนพวกที่ต้องการเลื่อนตำแหน่งก็จ่ายเพียง 1 ใน 3 ของราคากลาง

ครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยต้องชำระเงินล่วงหน้า จ่ายหลังรับตำแหน่งก็ได้แต่ต้องจ่ายเป็น 2 เท่า

ส่วนตำแหน่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ให้ติดต่อผ่านคนสนิทใช้วิธีประมูล

โดยทั่วไปตำแหน่งยิ่งไกลจากส่วนกลางจะยิ่งมีราคาสูงเพราะถูกขูดรีด ถอนทุนคืนเอาจากราษฎรได้ง่ายกว่า

อย่างไรก็ตาม การตั้งราคาไม่มีกฎตายตัวขึ้นอยู่กับความพอใจของฮ่องเต้

อย่างเช่นโจชง บิดาของโจโฉ เนื่องจากมีฐานะร่ำรวยเป็นถึงบุตรบุญธรรมของขันทีโจเทิงจึงต้องจ่ายค่าตำแหน่งแม่ทัพภาคเป็นเงินถึง 100 ล้านตำลึง

สูงกว่าราคาตลาดถึง 10 เท่า

นานวันเข้าการซื้อขายตำแหน่งก็กลายเป็นธรรมเนียมในการโยกย้ายแต่งตั้งไป ความเดือดร้อนตกไปอยู่กับชาวบ้าน ตาสีตาสาที่ต้องถูกถอนขนห่านจากขุนนางเถื่อนเหล่านี้

บางครั้งเปลี่ยนเจ้าเมืองเดือนละหลายคนจนชาวบ้านแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

และเมื่อถึงขีดสุดของความอดทน จึงปะทุกลายเป็นการก่อกบฏต่อต้านราชสำนักในที่สุด

ทุกอย่างจึงดำเนินไปเหมือนที่ สายฝน รุ่งประเสริฐ วรรณสินธพ และ สุรภาพร รังสีอุทัย แห่งมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เรียบเรียงเป็นหนังสือ “ประวัติศาสตร์จีน ยุคราชวงศ์”

ฮั่นหลิงตี้ (เลนเต้) เชื่อขันทีมากชนิดหน้ามืดตามัว รู้จักแต่กินดื่มหาความสำราญจนเงินในท้องพระคลังไม่พอใจ

จึงหาวิธีขูดรีด โดยใช้ซีหยวน (อุทยานตะวันตก) เป็นที่ซื้อยศซื้อตำแหน่งขุนนาง

ทั้งยังมีการติดประกาศราคาขายตำแหน่งขุนนางที่หน้าสำนักศึกษาหงตูเหมิน ตำแหน่งผู้ว่าราชการขายในราคา 20 ล้าน ตำแหน่งนายอำเภอราคา 4 ล้าน

ไม่มีเงินจ่ายให้ติดไว้ก่อนได้ แต่พอรับตำแหน่งแล้วต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าตัว

ดังนั้น ข้าราชการที่ซื้อตำแหน่งเหล่านี้ก็ยิ่งต้องไปขูดรีดเอาจากประชาชนทำให้ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกเข้าสู่ยุคตกต่ำสุดๆ

ความเสื่อมโทรมของราชสำนัก การรีดนาทาเร้นของเจ้าของที่ดิน

บวกกับภัยแล้งครั้งแล้วครั้งเล่า บีบให้ชาวบ้านตาดำๆ ทนต่อไปไม่ไหวจึงรวมตัวกันขึ้นต่อต้าน

คับแค้นทาง “ใจ” ยากไร้ทาง “วัตถุ”

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.