“ภูเก็ต” จังหวัดท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามัน จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างรายได้การท่องเที่ยวปี 2567 เกือบ 5 แสนล้านบาท (497,523.93 ล้านบาท) โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 13-14 ล้านคนต่อปี
แต่ในแง่การพัฒนาระบบโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยว กลับยังไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุน ทำให้ภูเก็ตมีทั้งปัญหาการจราจรติดขัด มีปัญหาขาดแคลนน้ำในทุกหน้าแล้ง หน้าฝนน้ำท่วม ไฟส่องสว่างตามแหล่งท่องเที่ยวต้องปรับปรุงอีกหลายจุด ปัญหาขยะ ฯลฯ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ต จึงพยายามผลักดันขอรับการสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดภูเก็ต ผ่านนายกรัฐมนตรีมาหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะ 14 โครงการเร่งด่วน งบประมาณ 1,197,870,200 บาท ซึ่งล่าสุด นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้พยายามผลักดันโครงการต่าง ๆ จนหลายโครงการได้รับการตั้งแท่นไปรองบประมาณเหลือจ่าย ปีงบประมาณ 2568 หลายโครงการได้ไปตั้งแท่นรอบรรจุในการจัดสรรงบประมาณของปี 2569 และปี 2570
โดย 5 โครงการแรกเป็นการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเกาะภูเก็ต โดยการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนน เป็นการสร้างภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวที่ดีให้กับจังหวัดภูเก็ต ได้แก่
1.โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมคลองท่าเรือเกาะแก้วและคลองนาลึก งบประมาณ 263,600,000 บาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมการกัดเซาะริมตลิ่ง และสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2570
2.โครงการบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 งบประมาณ 198,974,000 บาท 3.โครงการบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 2 งบประมาณ 198,550,000 บาท 4.โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่างในเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ทางหลวงหมายเลข 4030 งบประมาณ 20,000,000 บาท
5.โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่างในเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ทางหลวงหมายเลข 4024 งบประมาณ 10,000,000 บาท และ 6.โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่างในเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ทางหลวงหมายเลข 4021 งบประมาณ 10,000,000 บาท ทั้งนี้ โครงการลำดับที่ 2-6 ปัจจุบันได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ไปยังสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวงแล้ว
7.โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำบางวาด ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต งบประมาณ 12,000,000 บาท เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้น้ำ อันเนื่องมาจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ และภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างของบประมาณเหลือจ่าย ปีงบประมาณ 2568 ของกรมชลประทาน และขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณจาก 12,000,000 บาท เพิ่มเป็น 14,000,000 บาท
8.โครงการปรับปรุงถนนสาย แยกทางหลวงหมายเลข 4025-ทางหลวงชนบท ภก.3030 ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต งบประมาณ 15,500,000 บาท สถานะโครงการได้รับงบประมาณ ปีงบประมาณ 2568 จากงบฯพัฒนาจังหวัดแล้ว งบประมาณ 14,500,000 บาท อยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติโครงการ
9.โครงการปรับปรุงไฟฟ้าแสงสว่างและไฟสัญญาณจราจร ภก.4023 แยกทางหลวงหมายเลข 4025-บ้านม่าหนิก ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต งบประมาณ 9,900,000 บาท 10.โครงการปรับปรุงไฟฟ้าแสงสว่างและไฟสัญญาณจราจร ภก.4031 แยกทางหลวงหมายเลข 4027-บ้านบางโรง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต งบประมาณ 9,900,000 บาท เพื่อรองรับปริมาณรถจากถนนสายหลัก เป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนน
ทั้งนี้ โครงการลำดับที่ 9-10 อยู่ระหว่างขอรับการสนับสนุนงบประมาณในงบประมาณเหลือจ่ายของกรมทางหลวงชนบท ปีงบประมาณ 2568
11.โครงการยกระดับระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต งบประมาณ 179,446,200 บาท เป็นลักษณะการเช่า 5 ปี เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีวงเงินสูง สถานะโครงการได้มีการนำเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2570-2574 (งบฯผูกพัน 5 ปี) จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว
12.โครงการวางท่อเสริมประสิทธิภาพการจ่ายน้ำจังหวัดภูเก็ต พื้นที่ตำบลไม้ขาว ตำบลกมลา ตำบลป่าตอง และตำบลราไวย์ งบประมาณ 60,000,000 บาท เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวพักอาศัยค่อนข้างมาก
สถานะโครงการได้ขอรับจัดสรรงบประมาณ ตามแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนปีงบประมาณ 2568 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปีงบประมาณ 2568-2569 จากการประปาส่วนภูมิภาคไปแล้ว
13.โครงการอาคารรังสีรักษา โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต (ระยะที่ 2) งบประมาณ 140,000,000 บาท โดยปัจจุบันศูนย์รังสีรักษา ภาคใต้มีเพียง 3 แห่ง ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา ทำให้ประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ สตูล ระนอง ที่เป็นโรคมะเร็งต้องเดินทางไปรักษาที่จังหวัดฝั่งอ่าวไทย
จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องสร้างศูนย์รังสีรักษาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการรักษาฝั่งอันดามัน สำหรับสถานะโครงการนี้มีการปรับวงเงินก่อสร้างอาคารรังสีรักษา จากเดิม 290 ล้านบาท เป็น 400 ล้านบาท
เนื่องจากมีการเพิ่มพื้นที่ให้บริการให้สามารถขยายขีดความสามารถในการรองรับการบริการผู้ป่วย และเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะลงนามในสัญญาและส่งมอบสถานที่ในการดำเนินการในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นต้องจัดหาครุภัณฑ์เพิ่มเติมเพื่อให้บริการผู้ป่วย เป็นจำนวนเงิน 215.40 ล้านบาท โดยจังหวัดภูเก็ตได้มีการเปิดรับบริจาคเงิน และมียอดเงินบริจาคสะสม ณ วันที่ 25 มีนาคม 2568 จำนวน 378,827,640.98 บาท
14.โครงการการสร้างตาข่ายดักการชะลอการไหลของน้ำ งบประมาณ 70,000,000 บาท เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยว สถานะโครงการ กรมป่าไม้ ซึ่งจะเป็นหน่วยดำเนินการอยู่ระหว่างการพิจารณาขอรับจัดสรรงบฯกลาง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
ล่าสุด นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้พยายามผลักดันโครงการขนาดใหญ่อีก 3 โครงการที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.นานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับงบประมาณ โดยให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ช่วยผลักดันและจัดสรรงบประมาณให้ในการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 อีกจำนวน 3 โครงการ
ได้แก่ 1.โครงการผลิตและส่งน้ำประปาจากเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) ไปยังจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ได้เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) กปภ. เพื่อดำเนินการจ้างที่ปรึกษา
ผลการศึกษาเบื้องต้น จะต้องมีการก่อสร้างกำลังการผลิตเพิ่ม 2 ระยะ รวม 336,000 ลบ.ม./วัน (14,000 ลบ.ม./ชม.) สถานะโครงการ : ที่ปรึกษาอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขรายงานการศึกษาทบทวน ความเหมาะสมของโครงการผลิตและส่งน้ำประปาจากเขื่อนรัชชประภามายังจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ ฉบับเบื้องต้น
2.โครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (โรงพยาบาล ม.อ.ภูเก็ต) สถานะของโครงการได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 โดยมีเป้าหมายโครงการเพื่อรักษาโรคซับซ้อน ลดการส่งต่อผู้ป่วย โรคซับซ้อนในพื้นที่อันดามัน ไปรักษาในต่างพื้นที่ ประมาณ 20,000 ครั้ง/ปี และผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อเพิ่มศักยภาพการรักษาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
ซึ่งมีวงเงินรวมของโครงการ จำนวน 5,116 ล้านบาท โดยทางรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการ 60% (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะต้องสมทบ 40% (ประมาณ 2,000 ล้านบาท)
3.โครงการที่อยากให้รัฐบาลเร่งรัด คือ โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กิโลเมตร และโครงการอุโมงค์กะทู้-ป่าตอง ระยะทางประมาณ 3.4 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการจ่ายเงินเวนคืน อยากให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัด เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและการจราจร
นอกจากนี้ได้พยายามผลักดันตามข้อเรียกร้องของชาวภูเก็ต ต้องการยกจังหวัดภูเก็ตเป็น “การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ด้วยภูมิประเทศลักษณะพิเศษของเมืองภูเก็ตหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผังเมือง สิ่งแวดล้อม การจราจร และเป็นเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวนานาชาติ
แต่มีข้อจำกัดในข้อกฎหมาย งบประมาณ จึงต้องการยกระดับจังหวัดภูเก็ต เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งได้ยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 เพื่อให้รัฐบาลช่วยศึกษา ในส่วนของเอกชนชาวจังหวัดภูเก็ต อยู่ระหว่างยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองภูเก็ต เมื่อยกร่างเสร็จแล้วจะเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
การขาดแคลนน้ำเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของจังหวัดภูเก็ตในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนต่างต้องหาซื้อแหล่งน้ำดิบไว้ใช้ผลิตน้ำประปา เพื่อใช้อุปโภค และบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดจำนวนมาก ขณะที่แผนแก้ปัญหาระยะยาวยังไม่คืบหน้า ทุกปีทางจังหวัดต้องจัดเตรียมแผนแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
โดยในปีนี้ นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมรับภัยแล้ง ทางจังหวัดภูเก็ตได้ประชุมร่วมกับกระทรวงมหาดไทยแล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ขณะนี้น้ำใน 3 อ่างเก็บน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ ปริมาณน้ำอยู่ที่ประมาณ 39% จะใช้ได้ไปจนถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2568 และ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ไว้ว่าช่วงสงกรานต์ปีนี้จะมีฝนตก ซึ่งคาดว่า ปีนี้ฝนน่าจะมาเร็วกว่าเดิม รวมทั้งมาตรการป้องกันน้ำท่วมด้วย โดยจะประชุมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ร่วมกันดูสิ่งกีดขวางทางน้ำทั้งหมด
“เรื่องภัยแล้ง คิดว่าน่าจะเอาอยู่ ไม่น่าจะมีปัญหา ระยะเวลาที่เหลืออยู่ประมาณ 45 วัน มีน้ำสำรองทั้งอ่างเก็บน้ำของเราเองและขุมเหมืองของเอกชน ของราชการ โดย มท. 1 กำชับให้ทุกจังหวัดจัดทีมทั้งท้องถิ่นท้องที่ ถ้าจุดใดที่น้ำไม่สามารถไปถึงได้ เรามีรถบริการไปถึงจุดต่างๆเหล่านั้น ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทางท้องถิ่นดำเนินการร้องขอถ้าเกินอำนาจให้มาที่จังหวัด ให้มอนิเตอร์ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ภูเก็ตโชคดีที่ไม่มีพื้นที่การเกษตรที่มากเหมือนจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ มท.1 เน้นย้ำอย่าให้ขาดแคลนน้ำ”
ทางด้าน โครงการชลประทานภูเก็ต รายงานความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภค – บริโภค ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค” บริโภค ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีแหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน
โดย โครงการชลประทานภูเก็ต สำนักงานชลประทานที่ 15 ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางวาด ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง และอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต และจากแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำอื่น ๆ มีปริมาณน้ำกักเก็บรวม 80 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนการผลิตน้ำประปาและการเกษตรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้จังหวัดภูเก็ตมีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น จากการคาดการณ์ในปี 2580 ความต้องการใช้น้ำ มีประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม./ปี อ่างเก็บน้ำของ กรมชลประทาน ทั้ง 3 อ่างฯ มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ที่จะรองรับการใช้น้ำในพื้นที่
โครงการชลประทานภูเก็ต สำนักงานชลประทานที่ 15 ได้วางแผนพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มเติม แบ่งเป็นแผนงานระยะเร่งด่วน มีแผนดำเนินการขุดลอกตะกอนดินอ่างเก็บน้ำบางวาด (ระยะที่ 1) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำให้ได้มากยิ่งขึ้น ส่วนแผนระยะสั้น มีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในพื้นที่ จำนวน 10 โครงการ
แผนระยะกลาง มีแผนดำเนินการ 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ตำบลเชิงทะเล อ.ถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อจะได้แหล่งเก็บกักน้ำแก้มลิง เก็บกักน้ำจากคลองถลางและใช้บริหารจัดการสูบและผันน้ำไปอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับอุปโภค บริโภค ในช่วงฤดูแล้งของประชากรในพื้นที่ตำบลเชิงทะเล และตำบลเทพกระษัตรี 2. ขุดลอกตะกอนดินอ่างเก็บน้ำบางวาด (ระยะที่ 2-4) 3. ขุดลอกตะกอนดินอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ และ 4. โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำคลองถลาง
แผนระยะยาว มีแผนดำเนินการ 3 โครงการ ได้แก่ 1. จ้างศึกษา โครงการอ่างเก็บน้ำคลองเจ๊ะตรา 2. จ้างศึกษา โครงการอ่างเก็บน้ำคลองยนต์ และ 3. จ้างศึกษา โครงการผันน้ำเขื่อนเชี่ยวหลานมายังอ่างเก็บน้ำลำรูใหญ่ จังหวัดพังงา ส่งน้ำให้จังหวัดภูเก็ต