ทีดีอาร์ไอออกโรงหนุนไอเดีย “พีระพันธุ์” เปลี่ยนระบบสำรองน้ำมันเป็น SPR เลิกจ่ายเงินอุดหนุน มาเป็นเก็บน้ำมันสำรองในคลังแทน ช่วยบริหารจัดการราคาขายปลีกช่วงน้ำมันแพงได้ดีกว่า อิงต้นทุนจริง ไม่ต้องแทรกแซงแบบเดิม ๆ เผยตัวเลขคลังน้ำมันปัจจุบันไม่สมดุล มีน้ำมันสำเร็จรูปมากเกิน ต้องใช้เวลาปรับ แนะรัฐเริ่มสำรอง 30 วันก่อน แล้วค่อย ๆ ขยับ ป้องกันเอกชนต้นทุนพุ่ง
ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทีดีอาร์ไอได้ออกบทความ “น้ำมันแพงแก้ให้ถูกจุด ถึงเวลาปฏิรูปกองทุนน้ำมันฯ หรือเดินหน้าสู่ระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR)” เห็นว่า ควรยกเลิกกองทุนน้ำมันฯและปรับให้อยู่ในรูปแบบ SPR โดยระบบดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน แต่แตกต่างกันคือ กองทุนน้ำมันฯใช้กลไกการจัดเก็บและจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีก แต่ SPR จะอาศัยการระบายน้ำมันสำรองจากคลังเข้าสู่ตลาด เพื่อลดแรงกดดันของราคาน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูง
ซึ่งการที่ภาครัฐสามารถเข้าถึงน้ำมันที่ถือครองโดยตรง ทำให้ทราบต้นทุนที่แท้จริงของน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยให้การบริหารราคาขายปลีกภายในประเทศสามารถอ้างอิงกับต้นทุนจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนสามารถคาดการณ์ราคาได้ง่ายขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจะไม่แทรกแซงราคาน้ำมันในแบบเดิมที่ทำให้เกิดความผันผวนสูง
“วัตถุประสงค์หลัก คือ รองรับวิกฤตด้านพลังงานจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น สงคราม การปิดเส้นทางขนส่ง หรือภัยธรรมชาติ เพื่อให้ประเทศมีน้ำมันเพียงพอในภาวะฉุกเฉิน”
ดังนั้น หากมีการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ไว้ใช้สำหรับ 90 วัน จะสามารถเก็บน้ำมันจาก 3 ช่องทาง คือ จากค่าภาคหลวง ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 82 และ 83 ที่รัฐมนตรีสามารถสั่งให้ผู้รับสัมปทานเสียค่าภาคหลวงเป็นน้ำมันแทนตัวเงินได้ ซึ่งปัจจุบันไทยจำหน่ายปิโตรเลียมส่งออกวันละ 19 ล้านลิตร หากเก็บเป็นน้ำมันสำรอง 12.5% จะได้วันละประมาณ 2.4 ล้านลิตร
นอกจากนี้สามารถปรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในโครงสร้างราคาน้ำมันให้เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในการจัดซื้อน้ำมัน ซึ่งเมื่อพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมันปัจจุบัน มีส่วนประกอบด้านภาษีต่าง ๆ และการอุดหนุนกองทุนน้ำมันฯอีกประมาณ 3% ของราคาน้ำมันสำเร็จรูป เป็นส่วนที่ภาครัฐควรมีการปฏิรูป ยกเลิกความซ้ำซ้อนเพื่อลดภาระประชาชน ขณะเดียวกัน กองทุนน้ำมันฯก็สามารถนำมาแปลงเป็นน้ำมันสำรองในยามฉุกเฉิน โดยรัฐอาจพิจารณาให้ผู้ประกอบการรับภาระส่วนนี้ นำเงินไปซื้อน้ำมันสำรอง แทนที่จะเก็บในรูปแบบภาษี
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปริมาณการใช้น้ำมันดิบในปัจจุบัน พบว่ามีการใช้น้ำมันดิบประมาณ 170 ล้านลิตรต่อวัน โดยกำหนดให้มีสำรองน้ำมัน SPR ไว้ 90 วัน ดังนั้นจะต้องมีการเก็บไว้ที่ 14,000 ล้านลิตร (น้ำมันดิบ 12,000 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 2,000 ล้านลิตร)
ในปี 2567 มีปริมาณความจุของคลังน้ำมันทั้งสิ้น 16,545 ล้านลิตร เป็นคลังน้ำมันดิบที่ 7,500 ล้านลิตร และน้ำมันสำเร็จรูปที่ 9,000 ล้านลิตร ในความเป็นจริง หากเรากำหนดให้มีสำรองน้ำมัน SPR ไว้ 90 วัน จะต้องเก็บน้ำมันให้ได้ถึง 14,000 ล้านลิตร แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่าไม่สมดุลกัน เนื่องจากเรามีคลังน้ำมันสำเร็จรูปมากกว่าความต้องการใช้ ขณะที่คลังน้ำมันดิบน้อยกว่าความต้องการ และจะต้องใช้เวลาในการเก็บ
ส่วนระยะเวลาการเก็บน้ำมันนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการ ตราบใดที่รัฐบาลไม่ได้ออกกฎหมายและกำหนดสัดส่วนออกมาอย่างชัดเจน เช่น อาจจะเอาเฉพาะกองทุนน้ำมันฯออกมา หรือเอาภาษีทั้งก้อนออกมา นอกจากนี้ น้ำมันแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกัน
ซึ่งถ้าจะใช้ระบบ SPR รัฐจะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและใช้เวลาในการสร้างคลังน้ำมันเพิ่ม รวมถึงความเหมาะสมของตำแหน่งที่ตั้งของคลังน้ำมัน นอกจากนี้ การใช้พื้นที่คลังเดิมควรอยู่ภายใต้การวางแผนระยะยาวที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศ เช่น การลดการพึ่งพาน้ำมันในอนาคต หรือการปรับเปลี่ยนคลังน้ำมันบางแห่งให้สามารถรองรับพลังงานประเภทอื่นได้ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ 90 วัน เป็นนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน ดังนั้น สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ การคิดต้นทุนบริหารจัดการ รัฐต้องประเมินต้นทุนกลั่นน้ำมัน ค่าขนส่ง ค่าจัดเก็บ ต้นทุนดอกเบี้ย รวมถึงค่าเสียโอกาสจากการใช้เงินนี้เพื่อกิจกรรมอื่น และศึกษาผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ และรายได้ภาครัฐจากการปรับภาษี เมื่อเปลี่ยนเป็นภาระการจัดเก็บน้ำมันสำรองไปให้ผู้ประกอบการ อาจทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นในระยะยาว ขณะเดียวกัน ค่าภาคหลวงที่จะปรับภาษีเป็นน้ำมันนั้น รัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษีด้วย
“ภาครัฐควรจัดทำแผนเป็นลำดับขั้น เริ่มจากการตั้งเป้าสำรองขั้นต่ำที่ 30 วันของปริมาณการใช้น้ำมันต่อวันในประเทศ และขยายเป็น 60-90 วัน ในระยะกลางและระยะยาว”
ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้จัดทำร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบความถูกต้อง รวบรวมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จจะทำให้กระทรวงพลังงานสามารถบริหารจัดการด้านน้ำมันได้ดีขึ้น