“ผบ.ทสส.” ประธานการประชุมผบ.เหล่าทัพ พร้อมร่วมกันศึกษาแนวทางการพัฒนาการปฏิบัติการพิเศษร่วมกันทุกเหล่าทัพ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนากองทัพไทยร่วมกันต่อไป
เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยมี พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ,พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ,พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เข้าร่วมประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มาในชุดทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารเรือ ได้นั่งเรือที่กองทัพเรือได้จัดเตรียมไว้ให้ จาก กองทัพเรือ (พระราชวังเดิม) มายังหอประชุมกองทัพเรือ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ก่อนที่จะเข้าห้องประชุม
ทั้งนี้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวขอบคุณเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ร่วมปฏิบัติภารกิจในการสนับสนุนรัฐบาลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะงานด้านความมั่นคงตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ทั้งการดูแลความปลอดภัยประชาชนในพื้นที่ชุมชน การอำนวยความสะดวกในการสัญจร ตลอดจนเฝ้าระวังป้องกันยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย และความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติต่างๆทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน เน้นย้ำให้เหล่าทัพ ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเท และเสียสละ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำรงการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจการรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดน อย่างเต็มที่ ตลอดจนพัฒนากำลังพลให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อการปฏิบัติการพิเศษในอนาคตได้ทุกรูปแบบ
สำหรับการประชุมในวันนี้ ได้รับทราบแนวทางการพัฒนา การปฏิบัติการพิเศษร่วมของทุกเหล่าทัพ โดยกองบัญชาการกองทัพไทย ได้เสนอแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถการปฏิบัติการพิเศษร่วม อาทิ การเตรียมกำลัง โดยในมิติการรบ ได้ขยายขีดความสามารถของกำลังพลศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ให้สามารถปฏิบัติการร่วมกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของเหล่าทัพในภารกิจป้องกันประเทศได้ ส่วนด้านการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม ได้จัดทำบัญชีพร้อมเรียกปฏิบัติงาน (On Call List) ของกำลังพลหน่วยปฏิบัติการพิเศษของทั้งฝ่ายทหารและตำรวจ เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์การก่อเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา รวมถึงพัฒนาหลักสูตรการบริหารวิกฤตการณ์ พัฒนาระบบสนับสนุนการฝึกอบรม ตลอดจนได้เตรียมการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากลสู่การเป็นสถาบันป้องกันและตอบโต้สถานการณ์วิกฤตนานาชาติ
ส่วนกองทัพบก ได้เสนอเรื่อง “การปฏิบัติการพิเศษร่วมของกองทัพบก” มุ่งยกระดับการปฏิบัติการพิเศษร่วม ให้มีความพร้อม ครอบคลุมทุกมิติ และบูรณาการกำลัง การฝึก รวมถึงความร่วมมือทั้งภายใน และระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติอย่างรอบด้าน โดยมี หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ รับผิดชอบภารกิจปฏิบัติการพิเศษของกองทัพบก สำหรับการเตรียมกำลังและใช้กำลังนั้น เป็นไปตามแผนแม่บทพัฒนากำลังระยะ 6 ปี (พ.ศ. ๒๕๖๕–๒๕๗๐) ภายใต้กระบวนการ “วงจรนักรบพิเศษ” ซึ่งครอบคลุมการฝึกในหน่วย และการปฏิบัติราชการสนามในวงรอบ 4 ปี เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถอย่างเป็นระบบ
ขณะที่กองทัพเรือ ได้เสนอ “การปฏิบัติการพิเศษของกองทัพเรือ” ว่าปัจจุบันมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการพิเศษร่วม คือ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ นสร.กร. ทำหน้าที่จัด และเตรียมกำลังสำหรับปฏิบัติการสงครามพิเศษทางเรือ ปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม และปฏิบัติกิจพิเศษที่ได้รับมอบหมาย อีกทั้งยังได้กำหนดให้มีแนวทางพัฒนาขีดความสามารถของทัพเรือทั้งในด้านองค์บุคคล ด้านองค์วัตถุ ด้านองค์ยุทธวิธี เพื่อให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามในทุกมิติ ทำให้กองทัพเรือสามารถติดตามสภาพสถานการณ์ทางทะเล ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการทั้งสองฝั่งทะเล ได้อย่างต่อเนื่อง
ด้านกองทัพอากาศ ได้นำเสนอการปฏิบัติการพิเศษร่วม ในการเตรียมกำลังและใช้กำลังหน่วยปฏิบัติการพิเศษ โดยมีกรมปฏิบัติการพิเศษ จำนวน 3 กองพัน ขึ้นตรงการปฏิบัติกับหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ภายใต้การบังคับบัญชาของ ผู้บังคับการกรมปฏิบัติการพิเศษ ได้แก่ กองพันปฏิบัติการพิเศษ 1 บรรจุเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษคอมมานโด เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ การรักษาความปลอดภัยบนอากาศยานขณะทำการบิน ,กองพันปฏิบัติการพิเศษ 2 บรรจุเจ้าหน้าที่ค้นหาและช่วยชีวิต หรือ PJ เพื่อค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศยาน และกองพันปฏิบัติการพิเศษ 3 บรรจุเจ้าหน้าที่ควบคุมการรบ หรือ CCT เพื่อควบคุมการโจมตีทางอากาศในพื้นที่การรบ และสนับสนุนการปฏิบัติการลำเลียงทางอากาศยุทธวิธี
ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถในหัวข้อเรื่อง “การปฏิบัติการพิเศษร่วมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” โดยมี หน่วยปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น หน่วยคอมมานโด (Commando) หน่วยหนุมาน กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย อรินทราช 26 ฯลฯ ทำหน้าที่หลักในการเป็นชุดจู่โจม ปิดล้อมตรวจค้น และการปฏิบัติการพิเศษร่วมในเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะตำรวจพลร่มชุดกู้ภัย จากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้ร่วมกับหน่วยกู้ภัยจากทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการและอาสาสมัคร เดินหน้าปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอาคาร สตง. ถล่มด้วย