วธ.ขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฉบับใหม่ มุ่งปลดล็อกกฎระเบียบ -ส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมไทยสู่เวทีโลก
น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นำเสนอร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับดังกล่าวเพื่อใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศเติบโตและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้และลดอุปสรรคในการเข้ามาผลิตภาพยนตร์ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยในการดึงดูดการเข้ามาผลิตภาพยนตร์ในประเทศไทยอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง โดยร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นในระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) เรียบร้อยแล้วและที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. …. แล้ว
รัฐมนตรีว่าการ วธ. กล่าวว่า สำหรับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ผ่านความเห็นชอบ มีสาระสำคัญในการใช้ระบบการรับรองตนเองแทนการตรวจ โดยคณะกรรมการจากภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งมีการนำระบบการจดแจ้งมาใช้แทนระบบขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รวมทั้งปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลโดยใช้โทษปรับเป็นพินัยแทนโทษอาญา เว้นแต่กรณีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักรซึ่งยังคงมีโทษทางอาญาอยู่ โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวประกอบด้วย 7 หมวด 110 มาตรา และมีผู้รักษาการคือ รัฐมนตรีว่าการ วธ. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ในส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร)
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า หลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้ 1.เปลี่ยนการควบคุมตรวจสอบ เป็นการกำกับดูแล และอำนวยความสะดวก โดยใช้ระบบขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิรับรองเนื้อหาภาพยนตร์และจัดเรทติงโดยการรับรองตนเอง (Self-regulate rating system) แทนการตรวจโดยคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และใช้ระบบการจดแจ้ง แทนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ และสามารถออกกฎกระทรวงยกเว้น การจดแจ้งกิจการที่ควรให้การส่งเสริมเป็นพิเศษ และอำนวยความสะดวกโดยใช้ระบบออนไลน์เป็นหลักในการดำเนินการ 2.ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการสร้างภาพยนตร์ไทย การกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและด้านอื่น ๆ แก่ผู้ประกอบกิจการ และเพิ่มสัดส่วนเอกชนและผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งชาติ และจัดตั้งสภาอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งประเทศไทย เพื่อการรวมกันของกลุ่มผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมภาพยนตร์
นอกจากนี้ 3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยร่วมสร้างมาตรฐานการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาภาพยนตร์ และร่วมเป็นคณะกรรมการติดตามและกำกับดูแลการจัดระดับความเหมาะสมภาพยนตร์4. มาตรการยับยั้งการกระทำความผิด โดยใช้มาตรการทางปกครอง และโทษปรับเป็นพินัย แทนโทษอาญา และ 5.ลดอุปสรรคการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร โดยมีคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ต่างประเทศ การขึ้นทะเบียนผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ และผู้กำกับดูแลการถ่ายทำฯ กรณีฝ่าฝืนมีโทษอาญา
อย่างไรก็ตาม สำหรับขั้นตอนในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. …. นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างที่สํานักคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาเป็นการเร่งด่วน และกระทรวงวัฒนธรรมได้เตรียมจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. …. เป็นลำดับต่อไป