จากประสบการณ์ของทัด ณัฐธีร์ ศิลปินร่วมสมัยได้พบกับเด็ก Albino หรือเด็กที่มีผิว ผม และดวงตาที่ขาวกว่าคนทั่วไปในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต เกิดความประทับใจระคนสะเทือนใจ เป็นความรู้สึกย้อนแย้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะ Albino แฝงไว้ด้วยความเปราะบางทางร่างกายและสังคม คนกลุ่มนี้ถูกมองเป็นข้อบกพร่องในระบบสังคม โดนดูหมิ่น หรือบางคนล้อเลียนโดยไม่ได้ตั้งใจ ในขณะที่ช้างเผือก ควายเผือก เก้งผือก งูเผือก หรือแม้แต่พันธุ์ไม้ใบด่าง กลับได้รับการยกย่อง ภาวะเผือกไม่ได้มีความหมายแง่ลบกับสัตว์ แรงบันดาลใจดังกล่าวนำมาสู่การสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมชุดล่าสุด ซึ่งขณะนี้จัดแสดงในนิทรรศการ “Quantum Lightborn” ที่สยามพารากอน
ผลงานโชว์ประกอบด้วยจิตรกรรมสีอะคริลิคบนผ้าใบและวาดเส้นสเกตช์กว่า 20 ชิ้น ของ ทัด ณัฐธีร์ ที่ตีความ “เด็ก Albino” ไม่ใช่เพียงในฐานะบุคคลที่แตกต่างในปัจจุบัน แต่เป็นมนุษย์แห่งอนาคต (Lightborn) ที่ถือกำเนิดขึ้นในโลกที่ก้าวล้ำทางเทคโนโลยี ศิลปินวาดฝันถึงอนาคตที่เด็ก Albino ไม่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดอีกต่อไป งานของเขาผสานโลกแห่งจินตนาการแบบ Futuristic กับบริบทของร่างกายและสังคม เขาจินตนาการว่า หากวันหนึ่งเทคโนโลยีก้าวล้ำถึงจุดที่สามารถชดเชยข้อจำกัดทางกายภาพของพวกเขาได้ เด็กเหล่านี้จะกลายเป็นผู้ที่เหนือมนุษย์ในแง่ของการวิวัฒนาการ ฉายภาพเทคโนโลยีเปลี่ยนความเปราะบางเป็นพลัง
ภาพวาดในนิทรรศการ“Quantum Lightborn” ถ่ายทอดความคิดผ่านการออกแบบตัวละครเด็ก Albino ให้คล้ายซุปเปอร์ฮีโร่ที่สวมชุดเกราะสีทองคล้ายชุดอัศวินในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง Saint Seiya เป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ถูกพัฒนาผ่านพลังแห่งเทคโนโลยี พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงเด็กที่ต้องปกป้องตัวเองจากแสงแดด แต่เป็นผู้ที่เกิดจากแสง หรือ Lightborn เป็นบุคคลที่สามารถใช้ประโยชน์จากแสง พลังงาน และเทคโนโลยีเพื่อดำรงอยู่ในโลกอนาคต
หนึ่งในเอกลักษณ์ของผลงานจิตรกรรมชุดนี้ ศิลปินลดทอนรายละเอียดบางอย่าง เพื่อให้ผู้ชมจดจ่อกับตัวละครและสัญลักษณ์ที่ศิลปินเลือกใช้ รูปทรงที่เรียบง่าย การให้ความสำคัญต่อพื้นผิวมันเงาที่สะท้อนแสง และโทนสีที่ให้อารมณ์แบบ Polaroid ทำให้แต่ละภาพดูเหมือนเป็นบันทึกความทรงจำของโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ให้ความรู้สึกถึงความเงียบที่ก้องกังวาน
ผลงานชวนผู้ชมสำรวจและตีความสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในผลงาน เช่น ผีเสื้อ ดอกแดนดิไลออน และอวกาศ ต่างมีความหมายเชิงเปรียบเทียบ ผีเสื้อสื่อถึงความฝันและการปลดปล่อย ดอกแดนดิไลออนเป็นสัญลักษณ์ของ wishing & transformation ส่วนฉากที่เด็กๆ ถูกวางในบริบทของการสำรวจอวกาศ สะท้อนถึงความใฝ่ฝันของมนุษย์ที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกายและการออกไปท่องโลกและจักรวาลอันกว้างใหญ่
นิทรรศการนี้กล่าวได้ว่าเป็นการนิยามใหม่ของมนุษย์ Quantum Lightborn ไม่ได้เป็นเพียงการบันทึกความงามของเด็ก Albino เท่านั้น แต่เป็นการตั้งคำถามต่ออนาคตของมนุษยชาติ ว่าหากเทคโนโลยีสามารถลบข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์ได้ เราจะยังยึดติดกับแนวคิดเรื่องความแตกต่างหรือไม่ และที่สำคัญเราเลือกที่จะยกย่องความแตกต่างนี้หรือจะปล่อยให้มันถูกลดทอนคุณค่าต่อไป
ในโลกของทัด ณัฐธีร์ อนาคตไม่ได้เป็นเพียงจินตนาการ แต่คือเวทีสำหรับการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง และผู้ที่เกิดจากแสงกำลังถือกำเนิด ชวนผู้ชมมาเฉลิมฉลองความแตกต่างในฐานะพลังแห่งอนาคต ชวนมาสัมผัสความงามและเรียนรู้ความแตกต่างของมนุษย์ผ่านงานแสดงเดี่ยว “Quantum Lightborn” นิทรรศการเปิดให้เข้าชมระหว่างตั้งแต่วันนี้ – 30 เมษายน 2568 บริเวณ Fashion Gallery ชั้น 1 สยามพารากอน