'Sky Walk ราชวิถี'พลิกโฉมย่านนวัตกรรมการแพทย์
GH News April 19, 2025 02:07 PM

ใกล้จะเป็นจริงกับโปรเจกต์ทางเดินลอยฟ้าราชวิถี หรือ “Sky Walk ราชวิถี” ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในผังแม่บทการฟื้นฟูเขตเมืองกรุงเทพฯ 250 โจทยใหญ่ที่จะมาเปลี่ยนโฉมย่านโยธี-ราชวิถี ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี หรือ Yothi Medical Innovation District (YMID) ให้กลายเป็นฮับบริการสาธารณสุขระดับโลกและย่านนวัตกรรมทางการแพทย์“Medical Metropolis”ที่เดินเท้าได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และน่าเดิน ด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Sky Walk ราชวิถีในฝัน มีวัตถุประสงค์เชื่อมต่อการสัญจรที่สะดวกสบายสำหรับทุกคน ทั้งผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ บุคลากรและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งประชาชนทั่วไป อย่างเท่าเทียม , เชื่อมต่อ แลกเปลี่ยน แบ่งปัน ทรัพยากรของโรงพยาบาล สถาบันการแพทย์ และโรงเรียนการแพทย์ 12 หน่วยงาน เตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตการณ์ในอนาคต อาทิ น้ำท่วม เหตุการณ์ประท้วงที่มักเกิดขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเป็นจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูย่านด้วยการเดินแบบบูรณาการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต การเดินทาง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ช่วยแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ ฝุ่น ควัน และเสียงจากการจราจรที่ติดขัดในย่าน  ซึ่งขัดแย้งกับการชูเป็นย่านนวัตกรรมทางการแพทย์ 

ที่ผ่านมา การออกแบบทางเดินลอยฟ้าราชวิถีดำเนินการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม  นำมาซึ่งฉันทามติสำคัญที่ทุกหน่วยงานในพื้นที่เห็นพ้องต้องกัน  คือ การออกแบบให้เสาโครงสร้างตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หน่วยงาน โดยไม่ใช้พื้นที่ทางเท้า อันเป็นการเสียสละพื้นที่หน่วยงานอันนำมาซึ่งประโยชน์สาธารณะในภาพรวมที่ใหญ่กว่า รวมทั้งมีการอนุรักษ์ต้นไม้ให้มากที่สุด

ล่าสุด สำนักการโยธา กรุงเทพมหานครร่วมกับ โรงพยาบาล สถาบันการแพทย์ หน่วยงานในย่าน และภาคีเครือข่ายประกาศความร่วมมือโครงการทางเดินลอยฟ้าราชวิถี   ณ ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล   ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ม.มหิดลมีจุดแข็งที่สำคัญเชี่ยวชาญในสหสาขาวิชา ไม่เฉพาะการแพทย์ มีผู้เชี่ยวชาญครบถ้วน นำความรู้และความเชี่ยวชาญสร้างแนวทางแก้ปัญหาให้กับสังคม ทั้งจัดการเรียนการสอน การวิจัยเพื่อพัฒนาตอบโจทย์ความต้องการของสังคมไทย องค์ความรู้ที่มีอยู่จะช่วยพัฒนาสังคมไทยให้ดีขึ้นด้วยนโยบายสาธาณะที่เป็นประโยชน์ โครงการทางเดินลอยฟ้าราชวิถี ริเริ่มเมื่อ 10 ปีก่อน เป็นความประสงค์ของม.มหิดลที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้คนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เดินทางมารับบริการสาธารณสุข ทำงาน และเดินทางผ่านเข้าออกในพื้นที่ นับเป็นโอกาสดีที่ได้รับความร่วมมือจาก กทม. ออกแบบโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS)  จนเกิดภาคีเครือข่ายที่จะพัฒนาย่านก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในการสัญจร

“ ถ้ามองการสัญจรย่านโยธี-ราชวิถี เริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าจำนวนมากต้องการเดินทางมารักษาพยาบาลโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ เพราะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และให้บริการสาธารณสุข  มีโรงพยาบาลใหญ่ๆ เยอะ ทั้ง รพ.ราชวิถี รพ.พระมงกุฎฯ รพ.รามาธิบดี รพ.เด็ก สถาบันประสาทวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ  แต่การเดินทางภายในย่านยังเป็นไปอย่างยากลำบาก เป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเชื่อมต่อจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรที่สำคัญ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มสถานีรามาธิบดีเชื่อมต่อจากสถานีกลางบางซื่ออีกด้วย ฉะนั้นการเชื่อมต่อการสัญจรด้วยสกายวอล์คสำคัญมาก จะต้องพัฒนาเพื่อรองรับการสัญจรของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทหารผ่านศึก และนักเรียน โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ รวมทั้งคนทำงาน บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเดินทางภายในย่านอยู่เป็นประจำ รวมถึงทำให้การสัญจรในพื้นที่ได้ประโยชน์สูงสุด “  ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าว

รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เมืองเดินได้ เดินดี เป็นนโยบายสำคัญของผู้ว่าฯ ชัชชาติ  ซึ่ง Sky Walk ราชวิถี เป็นหนึ่งในโครงการเป้าหมายส่งเสริมการเดินเท้าที่สำนักการโยธา กทม. ร่วมพัฒนาโครงการ ถนนราชวิถี เป็นที่ตั้งของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ทั้งโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ และมูลนิธิช่วยคนตาบอด รวม 12 หน่วยงาน เป็นย่านที่มีโรงพยาบาลและหน่วยงานทางการแพทย์กระจุกตัวหนาแน่นที่สุดในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีปริมาณผู้ใช้งานอย่างหนาแน่นทั้งจาก คน กทม. และต่างจังหวัดที่เดินทางมารับบริการสาธารณสุข ทำงาน เดินทางผ่านเข้าออก แต่ทางเท้าไม่สะดวก เป็นทางเท้าที่แคบหรือกว้างเพียง 1.00 – 3.30 เมตร ไม่มีโครงสร้างกันแดด กันฝน ไม่เป็นมิตรต่อการเดินทาง

“ ถนนราชวิถีมีจุดตัดมาก แต่ละโรงพยาบาลและหน่วยงานมีประตูเข้า-ออกเป็นของตนเอง 19 จุด   ในแต่ละวันย่านประสบปัญหาความขัดแย้งในการเดินทางบริเวณหน้าโรงพยาบาล จากคนเดินบนทางเท้าและรอข้ามถนน รถพยาบาล รถรับส่งผู้โดยสาร รถบุคลากร และรถส่งของ ทำให้ย่านนี้มีจราจรที่ติดขัดอย่างหนักทุกวัน  การสร้าง Sky Walk ราชวิถี จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนสัญจรสะดวกขึ้น โครงการจะสำเร็จไม่ได้เลย หาก 12 หน่วยงานไม่ร่วมมือกัน ซึ่งทุกภาคีช่วยกันผลักดัน โครงการฯ จะจัดทำสัญญาก่อสร้างภายในเดือนเมษายนนี้ และผลักดันให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด “ รศ.ดร.วิศณุ กล่าว

ด้าน    รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผอ.UDDC-CEUS กล่าวว่า  โครงการนี้ไม่ใช่แค่เพียงทางเท้ายกระดับ ส่งเสริมสุขภาพสาธารณะ แต่เป็นจุดเริ่มต้นฟื้นฟูย่านโยธี-ราชวิถีอย่างเป็นระบบ   ผลศึกษาแต่ละวันมีผู้คนนับล้านคนเข้า-ออกพื้นที่  เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ หมอ ผู้ป่วย OPD  ราว 1.2 แสนคน บนถนนยาวแค่ 1 กิโลเมตร ปริมาณรถ 3 แสนคัน แต่มีที่จอดรถแค่หมื่นคัน  กว่า 60% มาด้วยขนส่งสาธารณะ และมาอย่างยากลำบาก พบมากกว่า 50% มาทุกวัน ทางเท้าแคบ อันตรายจากการข้ามถนน คนใช้พื้นที่ต้องการการเดินเท้าที่สะดวกสบาย ไร้สิ่งกีดขวาง มีร่มเงา มีที่นั่งพัก

สำหรับแนวทางการออกแบบวางผังที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน รศ.ดร.นิรมล ให้ภาพว่า เฟส 1 เชื่อมจากสถานี BTS อนุสาวรีย์ชัย ยิงตรงด้านราชวิถีจรดมูลนิธิคนตาบอดฯ ไปเชื่อมกับสกายวอล์ค รพ. รามาธิบดี อนาคต เฟส 2 เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มสถานีรามาธิบดี  รวมถึงออกแบบที่จอดรถใต้ทางด่วน การเชื่อมต่อกับชุมชนวัดมะกอก ซึ่งเป็นแหล่งค้าขายใหญ่ ทั้งยังให้ความสำคัญผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง โดยมีลิฟต์เชื่อมต่อสู่ทางเดินลอยฟ้า

ความท้าทายของโครงการ อันดับแรกขนาดของทางเท้าแคบมากและมีต้นไม้ขวางทางเท้า เราจะไม่เห็นรถวีลแชร์ใช้ทางเท้าถนนราชวิถีเลย ส่วนแนวสาธารณปโภคใต้ดิน ทั้งไฟฟ้า ประปา สื่อสาร ใต้ทางเท้า  ท่อประปาหลักของเมืองที่ตั้งอยู่กลางถนนราชวิถี  งานระบบอื่น ๆในพื้นที่หน่วยงาน เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย ทำให้การวางโครงสร้างเป็นไปอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ ไม่สามารถขยายทางเท้าหรือยื่นโครงสร้างสกายวอล์คเกินแนวทางเท้าได้  เพราะเป็นถนนเส้นหลัก  

ความเป็นไปได้ในการวางโครงสร้างสกายวอล์คจากกระบวนการมีส่วนร่วม มี 3 แบบ ได้แก่ แบบที่ 1 แนวเสาวางกลางทางเท้า  แบบที่ 2 แนวเสาวางบนแนวรั้ว จะต้องรื้อรั้วและแนวสาธารณูปโภคที่วางใต้แนวรั้ว และแบบที่ 3 ขอใช้พื้นที่เพื่อวางในแนวรั้วของหน่วยงาน ซึ่งทุกคนเห็นด้วยกับแบบที่ 3   ยินยอมให้ใช้งานพื้นที่ ซึ่งไม่แตะทางเท้าเดิม และได้ร่มเงาจากโครงสร้างสกายวอล์ค เดินได้ทั้งแนวราบและทางเดินลอยฟ้า   

แนวทางการออกแบบ  โรจน์ กาญจนปัญญาคม  รองกรรมการผู้จัดการ ATOM DESIGN ในฐานะสถาปนิก กล่าวว่า  โครงสร้างอยู่เขตในพื้นที่หน่วยงาน ยื่นออกมาประมาณ 3 เมตร โดยไม่ได้รบกวนทางเท้า ส่วนการจัดการต้นไม้ในพื้นที่ ต้นไม้ใหญ่จะมีการสำรวจ วิเคราะห์และย้ายปลูก  ส่วนเสาโครงสร้างจะปลูกไม้เลื้อยเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ กทม. ด้วย ทางเดินยกระดับมีรูปแบบที่เรียบ ออกแบบพิเศษในส่วนที่ผ่านหน้าคณะสาธารณสุขศาสตร์ที่มีพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 อีกทั้งออกแบบทางเดินลอยฟ้าเผื่อรถกอล์ฟสัญจรได้ โปร่ง ทัศนวิสัยดี มีราวกันตก และไม่รบกวนอาคารทั้งหมดโดยรอบ การออกแบบกลมกลืนกันทุกองค์ประกอบ  ทั้งทางยกระดับ ทางเชื่อม สะพานลอยข้ามถนน ลิฟต์ ขึ้น-ลง กลางคืนมีแสงสว่างบริเวณสกายวอล์คและทางเท้าราชวิถี

ด้าน อรยา สูตะบุตร กรรมการมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ กลุ่ม  BIG TREE กล่าวว่า การพัฒนาโครงการนี้จะอนุรักษ์ต้นไม้ในถนนราขวิถีและโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยให้มากที่สุด โดยสำรวจและประเมินจากผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่ม BIG Treesสมาคมรุกขกรรมไทยหรือหมอต้นไม้ และคณาจารย์จากคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์  เราสำรวจรายต้น ผลสำรวจมี 290 ต้น เก็บข้อมูลชนิดพันธุ์ สุขภาพต้นไม้ ประโยชน์เชิงนิเวศ ผ่านระบบออนไลน์  หากจัดการต้นไม้อย่างมีมาตรฐาน ตัดแต่งถูกวิธี คำนึงการใช้ประโยชน์ การเข้าถึง การปลอดภัย ความร่มรื่นของพื้นที่ สำหรับต้นไม้ใหญ่ที่จำเป็นต้องล้อมออก เพราะอยู่ในแนวตอม่อจะย้ายไปปลูกที่ใหม่ ณ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล โครงการสกายวอล์คจะปลูกไม้เลื้อยทดแทนบริเวณเสาโครงสร้าง ซึ่งช่วยดักฝุ่น PM2.5 ได้ รวมถึงทีมเครือข่ายรุกขกรจะเลือกชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมต่อไป  หวังว่าจะเป็นสกายวอล์คที่มีทั้งต้นไม้เก่าและต้นไม้ใหม่ เพิ่มความเขียวขจีมหานครกรุงเทพฯ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.