ศึกษิษฏ์ มือเดินคอมเพล็กซ์ ปักหมุดใหม่ ก่อนเลือกตั้งปี’70
SUB_NUM April 19, 2025 10:48 PM
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

ในช่วงที่การเมืองชุลมุนกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ที่มีสัดส่วนกาสิโน 10%

“ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นหนึ่งในคนที่รัฐบาล ผลักมายืนอยู่หน้าฉาก ประหนึ่งถือโทรโข่งอธิบายข้อดีของ “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”

เขาเป็นบุคคลที่เป็นตัวแทนรัฐบาล เข้าไปนั่งร่างกฎหมายกับคณะกรรมการกฤษฎีกา และเตรียมเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการร่างกฎหมายดังกล่าวในสภา แต่บังเอิญโปรเจ็กต์ “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ถูกเบรกเอาไว้ก่อน

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนา “ศึกษิษฏ์” เพื่อทำความรู้จักว่าเขาคือใคร ก่อนที่จะเข้าสู่การเมือง และเป็นโทรโข่งคอมเพล็กซ์เช่นทุกวันนี้

เส้นทางการเมือง

“ศึกษิษฏ์” เล่าจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่เส้นทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากครอบครัวนักการเมือง และไม่ได้เป็น สส. แต่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจ

จบปริญญาตรีมหาวิทยาลัย Flagler College ด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ จากนั้นไปทำงานที่แคลิฟอร์เนีย ทำอยู่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์เซล ที่สหรัฐ ดูแบรนด์ Lexus

“อยู่ที่นั่นปีกว่า ๆ แล้วกลับมาเรียนปริญญาโทด้านการเงินและการตลาด จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้ว Global Management Program ของบริษัท ING Insurance ขาแรกไปอยู่ฮ่องกง ไปดู Corporate Financing Planning ระดับ Reginal Office หลังจากนั้นไปอยู่ที่เกาหลี ไปเซตอัพคอลเซ็นเตอร์ ING จากนั้นก็กลับมาที่ ING ประเทศไทย ดูเรื่องแบรนดิ้งกับมาร์เก็ตติ้ง”

“จากนั้นย้ายไปอยู่ City Bank ประเทศไทย ดูด้าน Commercial Banking ดูแลลูกค้าระดับใหญ่ ที่ยอดขายประมาณ 5 พันกว่าล้านบาท อยู่ 2 ปี ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ AIA ประเทศไทย เป็น Business Development Manager ไม่ได้ทำด้านประกันจ๋า แต่เป็นคนทำโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ เช่น ช่วยพัฒนาโปรเจ็กต์ออกกำลังกายแล้วเบี้ยประกันลดลง”

ในฐานะลูกคนเดียวของครอบครัว “ศรีจอมขวัญ” ที่ทำธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ Toyota Siam Auto Salon เขาจึงกลับมาช่วยงานที่บ้าน นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ ด้วยความที่สนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก เมื่อมีโอกาสเขาจึงคว้าไว้

“ระหว่างนั้นมีเพื่อนรู้จักกับคนในพรรคเพื่อไทย และพามาแนะนำให้รู้จักกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ตอนที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ก่อนเลือกตั้ง 2566 ประมาณ 2 ปี”

“ผมสนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ก่อนหน้านั้นไปทำงานหาประสบการณ์ ยังไม่มีโอกาสได้เข้ามา เพราะไม่มีเส้นสาย ไม่มีคอนเน็กชั่น ไม่รู้จักใคร แต่พอทำงานไปได้สักพัก ธุรกิจส่วนตัวเริ่มอยู่ตัวแล้วก็คิดว่าน่าจะพร้อม ระหว่างนั้น 30 ปลาย ๆ หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว คิดว่าสั่งสมประสบการณ์มาพอแล้ว และได้ช่วยงานพรรคเพื่อไทยพร้อมกับทำธุรกิจของที่บ้านไปด้วย ก็มีเวลาได้มาทำ”

“จากนั้นก็เป็นทำคล้าย ๆ ทีมวิชาการ ทำพวกข้อมูลเตรียมอภิปรายงบประมาณ ข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ เตรียมพรีเซนเตชั่น”

ไม่ทะเยอทะยาน

ด้วยการที่อยู่ในแวดวงธุรกิจ ช่วงก่อนเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทย ตั้งคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ขึ้นมา 1 ชุด มี นพ.พรหมินทร์ เป็นประธาน มี “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย ในขณะนั้นนั่งเก้าอี้เป็นที่ปรึกษา ล้อมด้วยกูรูด้านเศรษฐกิจ อย่าง พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ศุภวุฒิ สายเชื้อ และ “ศึกษิษฏ์” ก็ร่วมวงคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ควบรองเลขานุการ

“พอช่วงหาเสียงได้รวบรวมนโยบายหาเสียง ทำเรื่อง Negative Income Tax รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการ พอนายกฯเศรษฐา ทวีสิน เข้ามา ท่านก็ไว้วางใจ และคุณหมอ (นพ.พรหมินทร์) ก็เสนอ ตอนแรกให้เลือกระหว่างเป็นรองโฆษกรัฐบาล กับรองเลขาธิการนายกฯ คิดว่ารองเลขาธิการนายกฯ น่าจะขับเคลื่อนอะไรได้มากกว่า”

“ไม่มีความทะเยอทะยาน จะต้องเป็นรัฐมนตรี หรือเป็นอะไร เพราะจริง ๆ ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกฯ ตอนแรกยังไม่รู้เลยว่าทำหน้าที่อะไร”

“แต่พอเข้ามาแล้วก็รู้ว่าขับเคลื่อนอะไรได้มาก และยิ่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประจำรองนายกฯ (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม) ที่ดูแล 4 กระทรวง สามารถดูได้ในภาพรวม ขับเคลื่อนได้หลายอย่าง”

Mixture of Thing

คิดว่าอาจจะได้แสดงฝีมือไว้บ้าง ตอนการทำหาข้อมูลตอนเป็นฝ่ายค้าน เราทำงานจริง ๆ ทำพรีเซนเตชั่นให้ถึงตี 2 ตี 3 ผู้ใหญ่คงเห็นว่าเราทำงานจริง ๆ พรรคก็เปิดโอกาสให้คนรุ่นไหม่ได้ขึ้นมามีโอกาสมากขึ้น ก็ดูว่าใครมีศักยภาพ

“ผมไม่ได้ถาม แต่คิดว่าเป็นคนที่ทำงานจริง ๆ และมีความสามารถในการสื่อสาร คุยกับสื่อ คุยกับข้าราชการผู้ใหญ่ได้ มีวัยวุฒิพอที่ไปคุยกับเขาได้โดยที่ไม่ลูกทุ่งจนเกินไป เป็น Mixture of Thing เป็นการผสมผสานของหลายสิ่งหลายอย่าง”

ทุกคนในพรรคเพื่อไทยต้องมีเส้นทาง ถาม “ศึกษิษฏ์” เป็นเด็กหมอมิ้ง (หมอพรหมินทร์) ไหม เขาตอบว่า

“ผมก็คุยงานกับหลายท่าน กับนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ผมก็สนิทสนมด้วย และด้วยความที่เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ก็ต้องรายงานเลขาธิการนายกฯ คือ นพ.พรหมินทร์ ประจำรองนายกฯ ก็ต้องรายงานท่านสุริยะ และต้องรายงานนายกฯด้วย ผมต้องใกล้ชิดทั้ง 3 คน และได้เรียนรู้ ได้ทำโปรเจ็กต์ช้าง ๆ อย่างนี้”

แล้วอะไรที่ได้จากผู้ใหญ่ 3 คน “ศึกษิษฏ์” กล่าวว่า หมอมิ้ง เป็นความเก๋าเกม ทุกคน Respect ในสถานการณ์ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็บริหารความสัมพันธ์ได้ค่อนข้างนุ่มนวล มีความสามารถที่จะพูดคุยได้ มีความรู้ลึก มีประสบการณ์สูงมาก

“ท่านสุริยะ ท่านเป็นคนใจดี แต่เด็ดขาดด้านนโยบาย ข้าราชการให้ความเคารพค่อนข้างเยอะ ท่านละเอียดและไว้วางใจให้คนทำงาน และท่านเป็นคนตัดสินใจ ส่วนนายกฯเศรษฐา เป็น Special Case ท่านเป็นนักธุรกิจ เด็ดขาด รวดเร็ว และขยัน ซึ่งช่วงนายกฯเศรษฐาสนุกมาก เดี๋ยวก็ลงพื้นที่ ลงพื้นที่ เสาร์-อาทิตย์ไม่ต้องกลับบ้าน ผมยังคิดถึงสไตล์นั้นอยู่”

“สำหรับนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ก็เป็นอีกสไตล์หนึ่งที่มีความบาลานซ์ กลมกล่อมมากขึ้น ตอนนายกฯเศรษฐา ใช้วิธีโปรเจ็กต์เบส ใช้พวกผม (รองเลขาธิการนายกฯ และทีมงาน) กระจายงานไปตามแต่ละกระทรวง ส่วนนายกฯแพทองธาร กระจายงานให้กับรัฐมนตรี เลขาธิการนายกฯ ไปช่วยบริหารกัน”

ภาระใหญ่ของ “ศึกษิษฏ์” ที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อน มีทั้งโครงการบ้านเพื่อคนไทย กฎหมายตั๋วร่วม (รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย) กฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร กฎหมายการอำนวยความสะดวกบริการภาครัฐ Ease of Doing Business กฎหมายสมรสเท่าเทียม

“นโยบายด้านท่องเที่ยวก็ดูอยู่หลายเรื่อง ทำงานร่วมกับรัฐมนตรี เช่น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พยายามทำเรื่อง ตม.6 ออนไลน์ F1 กำลังต่อรองราคาอยู่ ชัดเจนมิถุนายน รวมถึง MOTO GP ที่ช่วยดูรายละเอียด”

คอมเพล็กซ์และไทม์ไลน์ไหม่

แต่เผือกร้อนที่สุด คือ โปรเจ็กต์เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่เลื่อนการบรรจุกฎหมายเข้าสภาไปเดือนกรกฎาคม “ศึกษิษฏ์” จะใช้โอกาส 3 เดือนในการชี้แจงประชาชน แต่ในความรู้สึกคนทำ รู้สึกเสียดาย

“ความรู้สึกผมน่าเสียดายที่ต้องเลื่อนไป เพราะถ้าเริ่มในกรรมาธิการได้ ความเห็นที่แตกต่างกัน ก็จะใช้กรรมาธิการในการเป็นเวทีในการพูดกันอย่างเป็นทางการได้”

“แต่พอไม่มีเวทีนี้แล้ว ก็กลายเป็นข่าวลืออย่างนู้นอย่างนี้ ไม่มีเวทีกลางที่สามารถพูดคุยได้ แต่ไม่เป็นไร มีเวลา 3 เดือนในการสื่อสารให้มากขึ้น แต่สิ่งที่น่าเสียดายการถกเถียงตอนนี้ ข้อต่อต้านไม่ได้ Base of Fact แต่กลายเป็นประเด็นทางการเมือง”

ในช่วง 3 เดือนที่เว้นว่างจะสื่อสารอย่างไร “ศึกษิษฏ์” กล่าวว่า มีพูดคุยกันว่า 1.อาจจะพาผู้สื่อข่าวไปดูบ้างหรือเปล่า เพื่อให้เข้าใจว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หน้าตาจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่บ่อนเถื่อน โหดร้าย เข้าไปแล้วโดนตีหัวออกมา แต่พยายามดูอยู่ว่าจะทำอย่างไร หรืออินฟลูเอนเซอร์ หรือบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว ให้มาเล่าให้ประชาชนฟัง โดยพูดคุยกับเขาดู เพราะถ้าอยู่ในเมืองไทยได้ จะได้ประโยชน์มหาศาล

ส่วนไทม์ไลน์จากเดิมที่กระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ช่วงต้นเดือน 2569 และมีการศึกษาพื้นที่และประกาศเงื่อนไขการลงทุน ในปีเดียวกันนั้น ไทม์ไลน์ยังเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ “ศึกษิษฏ์” กล่าวว่า

อาจจะต้องดีเลย์ไป ถอยไป 3 เดือน ก็ต้องบวกไป 3 เดือน ตอนแรกคิดว่าจะเป็นปลายปีคือ ช่วงเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน 2569 แต่เมื่อเลื่อนไปก็ต้องเป็นต้นปี 2570 ซึ่งเป็นฤดูการเลือกตั้ง ต้องดูว่าจะเหมาะสมหรือเปล่า “ก็ช่วยไม่ได้ ทีมทำงานผมทำเต็มที่แล้ว ด้วยจุดประสงค์เดียวให้ประเทศไทยดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่ ผมอินกับมันมาก จึงเสียดายโอกาสที่พลาดไป” เขากล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.