เปิดเส้นทางความสำเร็จ พิม หวังเดชะวัฒน์ นักเขียนไทยผู้เจาะตลาดอินเตอร์
GH News April 21, 2025 09:40 PM

เปิดเส้นทางความสำเร็จ ‘พิม หวังเดชะวัฒน์’ นักเขียนไทยผู้เจาะตลาดอินเตอร์

นักเขียนไทย สู้ต่างชาติได้จริงไหม? เป็นคำถามที่หลายคนอาจสงสัย ทั้งที่นักเขียนไทยหลายคนก็มีฝีมือไม่แพ้ใคร แต่ทำไมยังไม่ค่อยเห็นวรรณกรรมไทยไปไกลถึงตลาดโลก ในขณะที่หลายประเทศมีวรรณกรรมเป็นซอฟต์พาวเวอร์และเป็นสินค้าส่งออก และถึงแม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยจะคึกคักขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะจากกระแสนิยายวายที่ถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์โด่งดังไปทั่วโลก แต่วรรณกรรมไทยที่ได้รับการแปลและตีพิมพ์ในต่างประเทศต้องยอมรับว่ายังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ในโอกาสฉลองครบรอบ 20 ปี สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ศูนย์การเรียนรู้ที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจให้นักอ่านและนักเขียนที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานได้เชิญ พิม หวังเดชะวัฒน์ นักเขียนไทยที่สามารถพาผลงานไปสู่เวทีระดับโลก เจ้าของผลงาน The Moon Represents My Heart-เราต่างเป็นดวงจันทร์อันโดดเดี่ยว นวนิยายที่ได้รับการแปลและตีพิมพ์ถึง 6 ภาษา ทั้งไทย อินโดนีเซีย รัสเซีย สเปน อิตาลี และตุรกี และถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปพัฒนาเป็นซีรีส์ทาง Netflix มาร่วมพูดคุย บอกเล่าประสบการณ์ แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น

จากความสำเร็จแบบถล่มทลายและเหนือความคาดหมาย ของผลงานเขียนชิ้นแรกจากนักเขียนหน้าใหม่อย่าง พิม หวังเดชะวัฒน์ จนอาจดูเหมือนเป็นความบังเอิญหรือความโชคดี แต่หากดูกันจริงๆ แล้ว จะพบว่านี่ไม่ใช่ความสำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน เพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้พิมสะสมต้นทุน การเป็นนักเขียนไว้ตั้งแต่เยาว์วัย และไม่เคยหยุดนิ่งที่จะไขว่คว้าหาโอกาส โดยพิมย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนว่า ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ และเป็นนักอ่านตัวยง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร สิ่งที่มีติดมืออยู่ตลอดเวลาจนพ่อของเธอต้องบอกให้วางลงบ้าง คือหนังสือ ความรักการอ่านทำให้เธอซึมซับศิลปะของการเล่าเรื่อง ฝึกจินตนาการ เกิดแรงบันดาลใจ และกลายมาเป็นความฝันที่อยากเป็นนักเขียนในที่สุด แต่กว่าจะก้าวไปสู่เวทีระดับสากลและประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ เส้นทางของพิมก็เต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทาย หนึ่งในนั้นคือข้อจำกัดของวงการวรรณกรรมไทยที่ยังไม่ค่อยเปิดกว้างและขาดระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่ง ทำให้การจะเป็นนักเขียนอาชีพดูเป็นเรื่องยาก

“รู้ตัวว่าอยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็กๆ แต่พอโตขึ้นมาแทบไม่รู้จักใครเลยที่อยากเป็นนักเขียน ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน ทำอย่างไร ในขณะที่ต่างประเทศ มีทุนสนับสนุน มีคลาสเรียน มีเวิร์กช็อปสอน แต่ประเทศเราแทบจะไม่มีสิ่งเหล่านี้ จนกระทั่งได้ไปเรียนด้านการเขียนโดยตรงที่ต่างประเทศ ทำให้ได้เจอคนมากมายที่อยากเป็นนักเขียนเหมือนกัน ก็รู้สึกถึงความแตกต่าง”

ทั้งมองว่า จริงๆ แล้วนักเขียนไทยหลายคนมีพรสวรรค์ มีความสามารถไม่แพ้ใคร แต่ด้วยธรรมชาติของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดที่ทำให้การพาผลงานไปสู่ตลาดโลกเป็นเรื่องยาก เช่น การจะมีผลงานตีพิมพ์ในต่างประเทศได้ต้องมีเอเยนต์ ที่ช่วยผลักดันผลงานของนักเขียนไปสู่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ และตลาดโลกได้ แต่ในไทยยังไม่ค่อยมี นักเขียนส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนด้วยตนเอง มีภาษาเป็นกำแพงใหญ่ แม้ผลงานของนักเขียนไทยหลายคนจะมีศักยภาพ แต่หากไม่ได้รับการแปลหรือแปลอย่างไม่มีคุณภาพ โอกาสในการเข้าถึงตลาดโลกก็ยิ่งน้อย วรรณกรรมไทยส่วนใหญ่จึงยังจำกัดอยู่แค่ตลาดในประเทศ และสุดท้ายขึ้นอยู่กับความสนใจของสำนักพิมพ์ เพราะถึงแม้ผลงานจะดีแค่ไหน แต่การที่สำนักพิมพ์จะสนใจและตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ไปตีพิมพ์ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพเพียงอย่างเดียว ทำให้นักเขียนฝีมือดีหลายคน แม้จะมีผลงานดี ก็ไม่ได้การันตีว่าจะได้รับการตีพิมพ์ ขณะเดียวกันการได้รับการตีพิมพ์ก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าจะเป็นผลงานที่มีคุณภาพเสมอไป

“ตลาดในต่างประเทศการแข่งขันสูงมาก กว่าผลงานชิ้นหนึ่งจะเดินทางมาถึงจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จจะต้องผ่านหลายด่าน ตั้งแต่กว่าจะเสนอผลงานให้เข้าตาเอเยนต์และเลือกเอเยนต์ที่เหมาะสมก็ยาก ได้เอเยนต์แล้วกว่าสำนักพิมพ์จะสนใจและเลือกไปตีพิมพ์ก็ยากอีกขั้น พิมพ์ออกมาแล้วจะมีคนอ่านไหม ขายดีไหม ก็ยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง” พิมกล่าว

เมื่อถูกถามต่อไปว่าหากต้องการให้วงการนักเขียนไทยเติบโตและแข่งขันในระดับสากลได้ควรทำอย่างไร พิมมองว่า อาจไม่ใช่แค่การวางระบบสนับสนุนนักเขียนในปัจจุบัน แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนตั้งแต่รากฐานโดยเริ่มจากการปลูกฝังการอ่าน ด้วยสภาพแวดล้อมของสังคมไทยยังไม่ค่อยเอื้อต่อการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเท่าไรนัก พื้นที่ที่กระตุ้นให้เด็กเติบโตมากับหนังสือยังมีน้อย และระบบการศึกษาไทยก็ยังไม่ส่งเสริมการอ่านเท่าที่ควร

“ตอนเด็กๆ รู้สึกว่าที่โรงเรียนยังไม่ค่อยมีการเรียนการสอนที่ช่วยสนับสนุนให้เด็กรักการอ่าน ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าทำไมชอบหนังสือเล่มนี้ หรือการฝึกให้เด็กๆ หัดเขียน เพื่อฝึกฝนจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กไทยจำนวนมากไม่ได้ซึมซับนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่เด็กๆ”

นอกจากนี้ระบบการศึกษาไทยยังให้ความสำคัญกับการเรียนสายวิทยาศาสตร์มากกว่าสายศิลป์ ทำให้การพัฒนาทักษะด้านภาษาและความคิดสร้างสรรค์มักจะถูกมองข้าม “หากเราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เด็กๆ รักการอ่านได้ ตั้งแต่เล็กๆ พวกเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และมีทักษะการเขียนที่ดีโดยธรรมชาติซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาวงการนักเขียนไทยในระยะยาว เพราะเชื่อว่าไม่มีนักเขียนคนไหนไม่เคยเป็นนักอ่านมาก่อน” พิมกล่าว พร้อมแนะนำแนวทางการเขียนสำหรับใครที่อยากโกอินเตอร์ว่า

“อยากแนะนำให้เขียนในสิ่งที่เราเชื่อ เรื่องราวที่เราอยากเล่า เรื่องที่เราภาคภูมิใจ เรื่องที่เป็นตัวของเราเอง แม้จะยังไม่แน่ใจว่าเรื่องของเราจะได้รับความสนใจมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าถ้าเราเล่าเรื่องที่มาจากประสบการณ์ มาจากความรู้สึก และถ่ายทอดออกมาด้วยหัวใจ มันจะมีพลังบางอย่างที่ทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมหรืออินกับมันได้ เชื่อว่างานเขียนที่ออกมาจากความจริงใจจะทัชใจผู้อ่านได้ในที่สุด”

“และที่สำคัญ ต้องเตรียมใจยอมรับการถูกปฏิเสธเพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ถูกปฏิเสธมาเยอะมาก ต้องอดทน เชื่อมั่น อย่าสูญเสียกำลังใจหรือเสียความมั่นใจในตัวเอง”

เรื่องราวของพิม เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การอ่านคือรากฐานของการเขียน และเป็นก้าวแรกสู่ความสำเร็จของนักเขียนทุกคน หากต้องการให้วงการวรรณกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับสากลต้องเริ่มจากสร้างสังคมที่รักการอ่าน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.