อดีตรมว.คลัง ส่งจม.ถึงรมว.คลังสหรัฐ ปล่อยหมัดตรง คุยแค่เรื่องการค้าภาษี อย่าลามการเมืองระหว่างประเทศ
GH News April 22, 2025 11:09 AM

22 เม.ย. 2568- นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเทศไทย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายสก๊อต เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สหรัฐ (ส่งผ่านสถานฑูตสหรัฐประจำประเทศไทย) วันที่ 22 เมษายน 2568

ข้าพเจ้าในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศไทย

ขอเรียนให้ท่านตระหนักถึงความรับผิดชอบมหาศาลของท่านในฐานะหัวหน้าทีมเจรจาของสหรัฐเรื่องภาษีนำเข้า การทำงานของท่านจะมีผลต่อทิศทางของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะของประเทศกำลังพัฒนา

ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องขอยก 4 ประเด็นที่ควรคำนึง ต่อไปนี้

หนึ่ง ท่านจะต้องคำนึงถึงบันทึกจากทำเนียบขาวฉบับลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุถึง ‘แผนการคิดภาษีโต้ตอบเพื่อให้เป็นธรรมแก่สหรัฐ’ โดย ‘แผน’ ระบุว่าทางสหรัฐจะคำนึงถึงสิ่งที่ประเทศคู่ค้าปฏิบัติใน 5 เรื่อง

(ก) ภาษีอากรขาเข้า

(ข) ภาษีอื่นรวมไปถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม

(ค) การกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี

(ง) การบริหารค่าเงินที่ฝืนตลาด และ

(จ) ข้อจำกัดอื่นๆ ที่กีดกันไม่ให้สินค้าสหรัฐเข้าถึงตลาด

ดังนั้น ในการเริ่มต้นเจรจา ทีมของสหรัฐจึงมีหน้าที่พิสูจน์ก่อนว่า ข้อมูลตามที่ปรากฏในแผ่นตารางที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยกแสดงต่อสาธารณะ ในช่องที่ระบุหัวข้อว่า

“ภาษีนำเข้าที่คิดต่อสหรัฐ รวมไปถึงการบิดเบือนค่าเงินและอุปสรรคต่อการค้า” (ตัวอย่างกรณีประเทศไทยระบุตัวเลขร้อยละ 72 ทั้งที่ไทยเก็บภาษีขาเข้าเพียงประมาณร้อยละ 11) นั้น ได้คำนวนแยกตาม 5 หัวข้อที่ระบุอยู่ใน ‘แผน’ ดังกล่าว อย่างไร เท่าใด

สอง การเจรจาควรจะจำกัดวงอยู่แต่เฉพาะเรื่องการค้าแลกเปลี่ยนและภาษีอากร

ไม่สมควรจะขยายไปถึงการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์สูงสุดและความมั่นคงของแต่ละชาติ และย่อมไม่มีประเทศใดพึงจะนำมาปะปนใช้เป็นเครื่องมือเจรจาทางการค้า

สาม ท่านย่อมตระหนักดีอยู่แล้วว่าสหรัฐเกินดุลการค้าด้านบริการกับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่แต่ละปีเป็นเงินมหาศาล

โดยสัดส่วนที่สำคัญเป็นเงินที่ประเทศเหล่านี้จ่ายให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเกี่ยวกับอินเทอร์เนต และเนื่องจากการค้าแบบออนไลน์มีแนวโน้มจะโตขึ้นอีกมากทั้งภายในแต่ละประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในอนาคตเมื่อจะมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น รายได้ทำนองนี้ของสหรัฐจึงจะขยายตัวอีกมาก

ดังนั้น ในการเจรจาจึงจำเป็นจะต้องนำประเด็นด้านการค้าบริการมาประกอบการพิจารณาควบคู่ไปกับประเด็นด้านการค้าสินค้า

สี่ ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะสมาชิกของอาเซียนล้วนเปิดต้อนรับการลงทุนโดยตรงในโครงการอุตสาหกรรมจากต่างชาติที่หลากหลายและเสมอภาค ซึ่งผู้ลงทุนมีทั้งชาวอเมริกัน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฯลฯ

ดังนั้น ผลจากการเจรจาจึงจะต้องปฏิบัติให้เสมอภาคเท่าเทียมกันแก่ผู้ส่งออกทุกรายไม่ว่าจะเป็นการลงทุนจากชาติใดตราบใดที่ขบวนการอุตสาหกรรมมีการเพิ่มมูลค่าที่เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น นโยบายเช่นนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อคนอเมริกันโดยตรงเพื่อให้ยังสามารถมีสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาที่ย่อมเยา

ข้าพเจ้าขอเรียนว่า คนทั้งโลกตั้งความหวังแก่ท่านว่า การเลือกจุดสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของสหรัฐกับผลประโยชน์ของโลกจะดำเนินการอย่างสุขุมรอบคอบ.

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.