AOC 1441 เตือนภัย “โจรออนไลน์” อ้างเป็น จนท.ธนาคารออมสิน หลอกให้กู้เงิน – เทรดหุ้น สูญกว่า 16 ล้านบาท
22 เม.ย. 2568 – นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 14 – 20 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 4,721,345 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน ชักชวนให้กู้เงิน จากนั้นทำการเพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อส่งรายละเอียด โดยมิจฉาชีพแจ้งให้โอนเงินค่าธรรมเนียมในการทำเรื่องและให้เตรียมเอกสาร ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินค่าธรรมเนียมไปและเตรียมเอกสาร จากนั้นมิจฉาชีพอ้างว่าไม่สามารถโอนเงินได้ ให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปบัญชีอื่นอีก โดยให้โอนเงินไปเรื่อย ๆ ภายหลังไม่ได้เงินคืนและติดต่อไม่ได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 1,484,150 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ทักมาพูดคุยระยะหนึ่งจนสนิทใจ จากนั้นชักชวนให้เทรดหุ้นผ่านเว็บไซต์ โดยมีการแนะนำวิธีเทรดหุ้นอย่างละเอียด ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินร่วมลงทุนเทรดหุ้น ระยะแรกได้กำไรสามารถถอนเงินออกจากระบบได้ ผู้เสียหายโอนเงินเป็นจำนวนมากขึ้น โดยเมื่อต้องการถอนเงินออกไม่สามารถถอนได้ เมื่อติดต่อสอบถามไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 3,171,325 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook โดยผู้เสียหายโพสต์ขายเสื้อผ้ามีคนติดต่อสนใจจะขอซื้อสินค้าแจ้งว่าจะพูดคุยผ่าน Line มีการชักชวนให้ผู้เสียหายลงทะเบียนร้านค้าเพื่อเพิ่มยอดขาย ในช่วงแรกมีการซื้อสินค้าและได้รับเงินจริง ต่อมามีการชักชวนให้โอนเงินเพื่อเปิดระบบ เปิดการมองเห็นร้านค้าและทำกิจกรรมให้เลือกสินค้า ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำการโอนเงินไปทำกิจกรรมหลายครั้ง ภายหลังไม่สามารถถอนเงินออกได้และไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 4,180,860 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายพบโฆษณาเชิญชวนเทรดหุ้นทองคำผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียดผ่านทาง Messenger Facebook และเพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นมิจฉาชีพสอนวิธีเทรดหุ้นต่างๆ และให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อเทรดหุ้น ในช่วงแรกสามารถถอนเงินจากระบบได้ ผู้เสียหายจึงโอนเงินเพิ่มและเทรดหุ้นได้จำนวนมากขึ้น แต่ไม่สามารถถอนเงินได้ ภายหลังไม่สามารถติดต่อมิจฉาชีพได้อีก
และคดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 2,951,303 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาทำงานเพื่อหารายได้พิเศษผ่านช่องทาง Tiktok ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนผ่าน Line แจ้งว่าเป็นการเปิดร้านเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่าย ต่อมามีกิจกรรมให้ร่วมทำ ให้ตั้งชื่อร้านแล้วแจ้งให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล หลังจากนั้นให้เลือกสินค้าที่จะลงขาย แล้วเพิ่มเพื่อนทาง Line ที่อ้างตนเป็นฝ่ายบริการ แจ้งว่าให้โอนเงินเข้าไปเป็นค่าสินค้าที่ลูกค้าสั่งซื้อ เพื่อเป็นการสำรองจ่ายค่าสินค้า ภายหลังพบว่ามียอดเงินเข้าไปในร้านค้า แต่ไม่มียอดเงินเข้าในบัญชีผู้เสียหาย และทราบว่าเป็นการหลอกให้ทำรายการแบบนี้ซ้ำๆ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 16,508,983 บาท
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 18 เมษายน 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,640,258 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,066 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 607,838 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,233 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 193,192 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 31.78 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 143,977 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.69 (3) หลอกลวงลงทุน 89,090 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.65 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 70,808 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.65 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 43,865 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.22 (และคดีอื่นๆ 66,906 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.01)
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยหลอกลวงลงทุนเทรดหุ้น ซึ่งเป็นคดีที่พบมากอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินหลอกให้ผู้เสียหายกู้ยืมเงินก่อนให้โอนจ่ายค่าธรรมเนียมเรื่อยๆ พบว่ามีมูลค่าความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท รวมทั้งการหลอกลวงหารายได้พิเศษต่างๆ ทั้งนี้ขอย้ำว่า หน่วยงานของรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการโทรติดต่อโดยตรง หรือติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย และจะไม่มีการให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชีแต่อย่างใด ดังนั้นหากมีการติดต่อเข้ามา ให้ประเมินว่าเป็นการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบและติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดยกระทรวงดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง