ข่าวดีรับเปิดเทอม!ศธ.ปลดล็อกการแต่งชุดลูกเสือ ยืดหยุ่นตามบริบทพื้นที่ ให้ใช้ชุดนักเรียน-ชุดพละได้
เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของศธ.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากลตามแนวทางโครงการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติ หรือ ปิซา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานความก้าวหน้าการอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในระดับเขตพื้นที่ จำนวน 245 เขตพื้นที่ 78 ห้องเรียน มีกลุ่มเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 445,624 คน ลงทะเบียนแล้วจำนวน 434,679 คน อบรมแล้วเสร็จ จำนวน 336,814 คน รวมถึงการสร้างคลังข้อสอบในระดับเขตพื้นที่ เพื่อต่อยอดการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบตามแนวปิซา
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเข้าข้อมูลคลังข้อสอบให้ทันภายในวันที่ 16 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 เพื่อให้ทุกเขตพื้นที่สามารถดาวน์โหลดไปใช้ตามแนวทางนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime ขณะเดียวกันได้มีการจัดทดสอบพิซาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผ่านระบบ PISA Style online testing สำหรับนักเรียนชั้นม.2 มีนักเรียนร่วมทดสอบ 413,289 คน แต่ละโรงเรียนและเขตพื้นที่วิเคราะห์ พบว่า ยังต้องมีการพัฒนาทักษาเชิงคิดวิเคราะห์ให้แก่เด็กนักเรียน”นายสุรศักดิ์ กล่าว
นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) ยังได้เตรียมจัดทำประกาศยกเว้นการแต่งเครื่องแบบลูกเสือของสถานศึกษาสังกัดศธ. โดยจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งการดำเนินการเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและสภาพอากาศตามบริบทของพื้นที่ โดยชุดลูกเสือตามประกาศ จะมี อยู่ด้วยกัน 3 ชุด ได้แก่ ชุดพิธีการ ชุดฝึก และชุดลำลอง ซึ่งในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนสามารถเป็นผู้กำหนดเครื่องแบบตามความเหมาะสมได้ เช่น เมื่อมีการจัดกิจกรรมเรียนวิชาลูกเสือ ผู้เรียนสามารถแต่งกายเพียงชุดพละหรือชุดนักเรียนที่เด็กมีอยู่แล้ว และใช้ผ้าพันคอลูกเสือกำหนดเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมแทนได้ เป็นต้น เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้กครอง ดังนั้นผู้ปกครองทุกคนไม่จำเป็นต้องไปซื้อชุดลูกเสือใหม่ให้บุตรหลานของตัวเอง เพื่อใช้เรียนอีกต่อไป
นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รายงานผลการดำเนินโครงการ “อาชีวะ-ขนส่ง อาสาช่วยประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ซึ่งมีสถิติการให้บริการ ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน โดยภาพรวมมีผู้ใช้บริการ 52,291 คน ซึ่งถือว่ายอดรวมผู้ใช้บริการ ปี 2568 มีสถิติเพิ่มขึ้นจากปี 2567 ร้อยละ 57.57 และผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจในการรับบริการมากถึงร้อยละ 92.32 โดยมีข้อเสนอแนะจากผู้รับบริการ เช่น บริการดี รวดเร็ว ให้ช่วยเหลือได้ดีมาก เชื่อมั่นครูและนักศึกษา มีฝีมือ และอยากให้จัดต่อเนื่องทุกปี
“ทั้งนี้ในวันที่ 26-27 เมษายน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) จะมีการจัดสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นการสอบเทียบครั้งแรกในรอบหลายปี เนื่องจากได้เว้นการสอบเทียบดังกล่าวมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยมียอดผู้สมัครเข้ากว่า 1,000 คน อย่างไรก็ตามการจัดสอบเทียบนี้เป็นนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศธ. ที่ไม่ขังคนเก่งไว้ในห้องและเปิดโอกาสคนที่มีความสามารถให้รับวุฒิที่เร็วขึ้นตามศักยภาพของตัวเองโดยเน้นคุณภาพเป็นหลัก” นายสุรศักดิ์ กล่าว