หลาก&หลาย - เจ๋ง!ใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี คุมโรคราก-โคนเน่าทุเรียน
ข่าวสด April 23, 2025 02:21 PM

กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงานตามนโยบายส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนของนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยให้ความสำคัญกับการใช้ชีวภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการพึ่งพาสารเคมีทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานการเกษตรของไทยสู่ระดับสากล ถือเป็นรากฐานสำคัญของเกษตรกรรมยั่งยืน และการพัฒนาเศรษฐกิจภาคการเกษตรอย่างมั่นคง

หลาก&หลาย - เจ๋ง!ใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี คุมโรคราก-โคนเน่าทุเรียน

โดย นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อควบคุมโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตทุเรียนของเกษตรกร

โดยนำ “เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี” (Neonothopanus nambi (Speg.) R.H. Petersen & Krisai) ซึ่งเป็นเชื้อราปฏิปักษ์ที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุโรค มาใช้เป็นทางเลือกแทนสารเคมีทางการเกษตร

นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในภาคเกษตร ที่ช่วยควบคุมโรคพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมระบบการผลิตที่ยั่งยืน ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ตอบโจทย์นโยบายการยกระดับภาคการเกษตรของไทย

หลาก&หลาย - เจ๋ง!ใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี คุมโรคราก-โคนเน่าทุเรียน

ด้าน น.ส.สุรีย์พร บัวอาจ นักวิชาการโรคพืชชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ให้ข้อมูลว่า โรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียน มีสาเหตุมาจากเชื้อราไฟทอปธอร่า (Phytophthora palmivora) ซึ่งสามารถแพร่กระจายในดินและเข้าทำลายราก ตลอดจนลำต้นของต้นทุเรียน ทำให้ต้นอ่อนแอ ใบเหลือง ร่วง และอาจถึงขั้นยืนต้นตายหากไม่ได้รับการป้องกันอย่างเหมาะสม

โรคนี้นับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตทุเรียนอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งในแง่ของผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร

หลาก&หลาย - เจ๋ง!ใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี คุมโรคราก-โคนเน่าทุเรียน

ในขณะที่เทคโนโลยีการใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั้งนักวิชาการและเกษตรกร เนื่องจากมีขั้นตอนการผลิตที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และสามารถนำไปใช้ทดแทนสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลาก&หลาย - เจ๋ง!ใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี คุมโรคราก-โคนเน่าทุเรียน

ขั้นตอนการเตรียมชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีสูตรเหลว เริ่มจากการผสมกากน้ำตาล 100 มิลลิลิตร กับน้ำสะอาด 10 ลิตร ลงในภาชนะที่ทนความร้อนต้มให้เดือดแล้วพักให้อุณหภูมิลดลงอยู่ที่ประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส

จากนั้นนำก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีที่เส้นใยเจริญเต็มก้อนปริมาณ 200 กรัม ลงเลี้ยงขยายในกากน้ำตาลที่ผ่านการต้มฆ่าเชื้อ ปิดภาชนะด้วยพลาสติกร้อนแล้วใช้ยางรัดหลวมๆ

เสร็จแล้วบ่มที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 30 วัน เมื่อครบกำหนดกรองเก็บเฉพาะน้ำเชื้อเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีเพื่อใช้ในการควบคุมโรคต่อไป

หลาก&หลาย - เจ๋ง!ใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี คุมโรคราก-โคนเน่าทุเรียน

วิธีการใช้ เริ่มจากการใช้มีดขูดเปลือกต้นทุเรียนที่เป็นโรคออกบางๆ ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร จากนั้นนำชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีสูตรเหลวมาผสมกับสีฝุ่น (iron oxide) ในอัตราส่วน 1:1 แล้วทาให้ทั่วบริเวณแผลที่ถาก โดยใช้เพียงแค่ครั้งเดียว

จุดเด่นของเทคโนโลยีเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีคือ มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียน ไม่แตกต่างจากการใช้สารเคมี มีขั้นตอนการผลิตที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก เกษตรกรสามารถผลิตเองได้ และมีต้นทุนต่ำเพียง 500 บาทต่อไร่ต่อปี ในขณะที่การใช้สารเคมีมีต้นทุนเฉลี่ย 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี

หลาก&หลาย - เจ๋ง!ใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี คุมโรคราก-โคนเน่าทุเรียน

ดังนั้น การใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีสามารถช่วยลดต้นทุนการใช้สารเคมีได้สูงถึง 1,300 บาทต่อไร่ต่อปี

ปัจจุบันเทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีในการควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่า ในทุเรียน ได้ถูกถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคจำนวน 46 ศูนย์ รวมถึงสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขตทั่วประเทศ

หลาก&หลาย - เจ๋ง!ใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี คุมโรคราก-โคนเน่าทุเรียน

โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถนำไปขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี และสนับสนุนการเกษตรที่ยั่งยืนของไทย

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-9581

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.