เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯให้คำแนะนำประชาชนคนไทย วางแผนการเงินรับมือหลังต้องเผชิญเหตุแผ่นดินไหว และผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้าที่สหรัฐในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลกในอัตราสูงรวมทั้งไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทย ที่การเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวอยู่แล้ว
ทั้งนี้การวางแผนการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัว หากพิจารณาในช่วงเกือบ 5-6 ปีที่ผ่านมา ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการสำรองเงินเผื่อฉุกเฉิน โดยแนะนำว่าตามหลักการแล้ว หากเป็น มนุษย์เงินเดือน ควรมีการสำรองเงินเผื่อกรณีฉุกเฉินเป็นจำนวนเงิน 6 เดือนของเงินเดือน แต่หากเป็น กลุ่มฟรีแลนซ์ ก็ต้องสำรองเงินจำนวน 12 เดือน ของค่าใช้จ่ายส่วนตัว และเมื่อกลับสู่ภาวะปกติการสำรองเงินฉุกเฉินก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
“ล่าสุดกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของประเทศไทยในวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทำให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันวินาศภัยกับที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม กรณีที่ผ่อนหมดแล้วและไม่ได้ทำประกันภัยไว้ แต่กรณีที่มีการผ่อนชำระกับสถาบันการเงิน ให้กลับไปตรวจสอบว่าได้มีการทำประกันภัยไว้หรือไม่ และได้ครอบคลุมการคุ้มครองเหตุจากภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวหรือไม่ นอกจากนี้ ยังเห็นความจำเป็นมากขึ้นกับการทำประกันชีวิต โดยเฉพาะผู้มีรายได้หลักที่หาเลี้ยงครอบครัว”
นอกจากนี้ปัจจัยด้านมหภาค นโยบายภาษีนำเข้าสินค้าของทรัมป์ ที่สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยได้เกิดความผันผวนต่อภาวะการลงทุนทั้งตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ ซึ่งหากมีการจัดพอร์ตการลงทุนในแบบกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ (Asset Allocation) จะช่วยให้ลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้
โดยการจัดพอร์ตการลงทุนในภาวะแบบนี้ แนะนำให้ลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมลง ด้วยการเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำ รวมถึงเงินสดให้มากขึ้น เพราะหากราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลงแรง หลังนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ เริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงกลางปีนี้ ย่อมเป็นโอกาสของการกลับไปเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ภายใต้แนวทางการจัดพอร์ตโดยกระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมของตัวเอง
สมาคมฯ มีความเห็นว่า ในยุคแห่งความไม่แน่นอนขณะนี้ การวางแผนการเงินเป็นสิ่งที่ช่วยมองความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต และพยายามป้องกันหรือลดความเสี่ยงเหล่านั้นในน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบกับทรัพย์สินหรือรายได้ที่พยายามหามา คือ อุดรูรั่วให้หมดก่อนเติมน้ำให้เต็มนั้นเอง