เตือน 23-25 เม.ย. 68 "อากาศร้อนถึงร้อนจัด" แนะหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแดด
thairath April 24, 2025 08:19 AM

อุตฯ ประกาศเตือน 23-25 เม.ย. 68 "อากาศร้อนถึงร้อนจัด" แนะประชาชน ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแดด ด้านอาจารย์แพทย์ มช. เผยอากาศร้อนจัด เสี่ยง "ลมแดด" ถึงขั้นหมดสติ เสียชีวิตได้

วันที่ 23 เมษายน 2568 เฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือน ช่วงวันที่ 23-25 เม.ย. 68 อากาศร้อนถึงร้อนจัด

  • ภาคเหนือ 31-41°C

  • ภาคอีสาน 37-40°C

  • ภาคกลาง 38-41°C

  • ภาคตะวันออก 34-38°C

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล 35-39°C

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน รักษาสุขภาพ ดื่มน้ำให้เพียงพอ พยายามหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแดด และสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี

ขณะที่ทาง ผศ.นพ.กิตติ เทียนขาว ผู้ช่วยคณบดีและอาจารย์ประจำหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า "ฮีทสโตรก" เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ตามปกติ เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความร้อนสูง ร่างกายจึงไม่สามารถระบายความร้อนออกได้

ส่งผลให้เกิดการสะสมของความร้อนภายใน นำไปสู่ความผิดปกติของระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง โดยทั่วไป ร่างกายมนุษย์จะรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในช่วง 36-37.5 องศาเซลเซียส ผ่านการขับเหงื่อและการระบายความร้อนทางผิวหนัง แต่ในภาวะฮีทสโตรก อุณหภูมิแกนกลางของร่างกายจะสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส และทำให้ระบบภายในเริ่มล้มเหลว

ทางการแพทย์แบ่งฮีทสโตรกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โรคลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (Classical Heat Stroke) มักเกิดกับผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้มีโรคประจำตัว ที่อยู่ในที่ร้อนเป็นเวลานาน และโรคลมแดดที่เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (Exertional Heat Stroke) เกิดจากการออกแรงหรือออกกำลังกายหนักในที่ร้อน เช่น นักกีฬา หรือคนงานกลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวัง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก นักกีฬา ผู้ที่ดื่มน้ำน้อย หรือใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือยาต้าน cholinergic รวมถึงผู้ที่เข้าสู่สภาพอากาศร้อนกะทันหันโดยไม่ทันปรับตัว

อาการเตือนของฮีทสโตรกที่ไม่ควรมองข้าม ได้แก่ ตัวร้อนจัด อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ผิวหนังแดงหรือแห้ง หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกลดลงหรือไม่มีเหงื่อ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ซึม อาเจียน หรือหมดสติ บางรายอาจมีอาการชัก และความดันโลหิตต่ำ การช่วยเหลือเบื้องต้นที่ถูกต้อง คือการลดอุณหภูมิร่างกายโดยเร็วที่สุด โดยพาผู้ป่วยไปยังที่ร่ม นอนราบและยกเท้าสูง ถอดเสื้อคลุมที่ไม่จำเป็นออก จากนั้นใช้น้ำเย็นเช็ดตัว เปิดพัดลมหรือแช่น้ำเย็น เป้าหมายคือลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 39 องศาเซลเซียสภายใน 30 นาที

หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดีให้จิบน้ำทันที แต่หากหมดสติ ให้ตรวจสอบชีพจรและการหายใจ หากไม่มีชีพจรต้องทำ CPR และรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือโดยด่วน แพทย์เน้นย้ำว่า "ไม่ควรมองข้ามอาการเล็กน้อย เพราะฮีทสโตรกอาจเกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ และกลายเป็นอันตรายที่คาดไม่ถึงได้ภายในเวลาอันสั้น"

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.