รองฯทวิดา เสนอ 3 ประเด็นใน ‘เวทีอาเซียน’ แชร์ประสบการณ์ ‘ภัยแผ่นดินไหว’
GH News April 24, 2025 09:22 AM

รองฯทวิดา เป็นตัวแทนไทย ร่วมแชร์ประสบการณ์หลัง ‘แผ่นดินไหว’ บนเวทีอาเซียน เสนอ 3 ประเด็นจัดการภัยพิบัติ

เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่กรุงจาร์กาตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Regional Forum Workshop on Risk Reduction, Preparedness, and Disaster Response ระหว่างวันที่ 22-23 เมษายนนี้

โดย น.ส.ทวิดาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการบรรยาย หัวข้อ Liveable Bangkok for all: Climate and Disaster Resilient City to Sustainability พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ในหัวข้อ Myanmar Earthquake Impacts and Bangkok Operation ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอรายชื่อ น.ส.ทวิดา กมลเวชช ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและมีผลงานเชิงประจักษ์ ในด้านการจัดการภัยพิบัติจากประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุม

สำหรับ การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ในการเตรียมความพร้อม การรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน การส่งเสริมความร่วมมือด้านการบรรเทาภัยพิบัติ โดยเสนอให้มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งจากระดับเมืองหรือท้องถิ่นเชื่อมโยงสู่ระดับภูมิภาค (Regional-Cities Network) ร่วมกันระหว่าง 27 ประเทศ/องค์กรผู้เข้าร่วม ASEAN Regional Forum: ARF เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามความตกลงอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติและตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response (AADMER) 2021-2025) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการภัยพิบัติสำหรับอาเซียน

ทั้งนี้ ผู้แทนจากสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เข้าร่วมการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำมาใช้ในการทำงานของ กทม.ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับประเด็นที่ น.ส.ทวิดา นำเสนอ ได้มีการเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊ก ดังนี้

ASEAN Regional Forum (ARF)

Risk Reduction, Preparedness and Disaster Response

คำเชิญเป็นตัวแทนของประเทศไทย มาถึงท่านผู้ว่าฯ ก่อนหน้าแผ่นดินไหวหลายอาทิตย์ ให้เวลาเราในฟอรั่มถึง 45 นาที เยอะที่สุดตั้งแต่เคยร่วมเวทีของอาเซียนมา เมื่อตอนตอบรับ ส่งหัวข้อ LIVEABLE BANGKOK: Climate and Disaster Resilience to Sustainability ไป แต่พอมาจริง แนบหัวข้อ Myanma Earthquake Impacts and Bangkok Operation มาด้วย คิดว่าผู้คนที่มาน่าจะสนใจ ว่าจาก Risk Reduction ส่งผลแค่ไหนกับ Emergency Response และ Disaster Management

รองฯสาม มี 3 ประเด็นจะเสนอ

ประเด็นแรก เคยเขียนไว้ในบทความวิชาการ 10 ปีกว่าๆ มาแล้ว เรื่องเนื้อหา AADMER (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response) และบทบาท AHA Center (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistant on Disaster Management) ที่เราคิดว่า ควรให้น้ำหนักหนีออกจาก Emergency Response ให้มากกว่านี้ และให้ AHA Center เปลี่ยน approach มาทำงาน localization กับเมือง เหมือนที่ UN หันมาทำงาน Cities Level ไม่ใช่แค่ต้องประสานผ่าน national focal point เท่านั้น ASEAN ควรใช้ประโยชน์จาก Making Cities Resilient (MCR) เพราะในนั้น คือการต่อกระบวนงานจาก การลดความเสี่ยง การเตรียมความพร้อม การตอบสนองสถานการณ์ การให้ความช่วยเหลือ และการกลับคืนสู่ภาวะปรกติที่แข็งแรงกว่าเดิมที่แท้จริง

ประเด็นที่สอง ได้จากการทำงานกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมานาน คือการเชื่อม ASEAN ERAT (Emergency Rapid Assessment Team) และ UNDAC (The United Nations Disaster Assessment and Coordination) รวมถึงการนำไปสู่ DANA (Damage and Need Assessment) ให้เป็น PDCA (Plan-Do-Check-Act) ซึ่งกันและกัน เพราะหลายครั้ง เราแยก Emergency Response ออกจาก Early Recovery ไม่ได้ ที่สำคัญ ต้องให้น้ำหนักกับการทำให้ทีมประเมินความเสียหาย ความต้องการการช่วยเหลือ และหน่วยกู้ชีพกู้ภัย ทำงานพร้อมกันได้

ประเด็นที่สาม มาจากสามอาทิตย์ที่ผ่านมา กับการทำงานระบบบริหารปฏิบัติการผลกระทบแผ่นดินไหวใน กทม. เราพบว่า ใน Emergency Response นั้น ศักยภาพของ USAR (Urban Search and Rescue) สำคัญมาก การทำงานของ International USAR ตลอดจน INSARAG (International Search and Rescue Advisory Group) สะท้อนว่า “การประสานปฏิบัติการให้สอดคล้อง รวดเร็ว แม่นยำ” สามารถทำได้จากความร่วมมือภูมิภาค และการเสริมศักยภาพของกลไกต่างๆ ของ ASEAN เช่นกัน สิงคโปร์และมาเลเซียมี heavy USAR team ซึ่ง SCDF (Singapore Civil Defense Forces) จะเป็นคู่ความร่วมมือ กทม. เร็วๆ นี้) อย่าให้น้ำหนักแค่ ประสานการประเมิน แต่เราฝึกหน้างานร่วมกันได้เป็นวงจรที่สมบูรณ์

เริ่มจากที่ ARF เชิญรองพ่อเมืองมานี่ล่ะ ปรกติท่านผู้ว่าฯหวงมาก ไม่ค่อยยอมให้ออกนอกขัณฑสีมา (ห่วงงานไม่มีคนเฝ้าแหละ แต่เราเขียนให้เราดูดี) คราวนี้น่าจะเห็นว่า ส่งรองฯสามมาน่าจะเสนอความร่วมมือนอกกรอบ และดันให้ ASEAN มาหาเมืองได้ ให้มาสองวัน พรุ่งนี้กลับไปแปะมือทั่นผู้ว่าฯ แระ

ขณะกำลังพิมพ์ข้อความนี้ ท่านทูตอาเซียน อยู่ๆ ก็แนะนำว่า “I also have my colleague from Thailand, her nickname said all about her, Lady Disaster.” ? เป็นการแนะนำที่เฟรนด์ลี่ น่ารัก ออกนอกกรอบการทูตได้อย่างถูกใจมาก มีแรงทำงาน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.