พิชัย เผยการส่งออกไทย มีนาคม 2568 มีมูลค่า 29,548.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัว 17.8% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 มั่นใจการเจรจาสหรัฐยังติดตามต่อเนื่อง การส่งออกออกยังเป็นพระเอก
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2568 มีมูลค่า 29,548.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัว 17.8% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9
นับตั้งแต่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว การส่งออกไทยขยายตัวต่อเนื่องทุกเดือน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.9% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 10 ปี สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน
“การเติบโตไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมตลาดอื่น ๆ ด้วย แม้ในเดือนถัดไปอาจมีผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ แต่เชื่อมั่นว่ายังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ ด้วยความร่วมมือของรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน” นายพิชัยกล่าว
ทั้งนี้ ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกของไทยเป็นพระเอก และยังเชื่อว่าการขยายตัวเศรษฐกิจไทยโต 3% ส่วนการติดตามการเจรจากับสหรัฐ ผมยังทำต่อเนื่องซึ่งตอนนี้เตรียมข้อมูล อีกทั้ง ต้องใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส และพรุ่งนี้ (25 เมษายน 2568) จะร่วมหารือ ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (NEA) เพื่อวิเคราะห์โอกาสของไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะกรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่อาจเป็นโอกาสให้สินค้าของไทยเข้าไปแทนที่สินค้าในตลาดโลก
“อย่าคิดว่าเป็นวิกฤตอย่างเดียว ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง และเรายังเดินหน้าต่อไปได้ ยังมีสินค้าที่ไทยจะเข้าไปทดแทน และต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการสวมสิทธิ์นอมินี”
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกไทยเดือนมีนาคม 2568 การส่งออก มีมูลค่า 29,548.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขยายตัว 17.8% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 15.0% โดยการนำเข้า มีมูลค่า 28,575.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.2% โดยไทยการค้าเกินดุล 973.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยการส่งออกของไทยได้รับแรงหนุนหลักจากสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป ท่ามกลางความพยายามในการรับมือกับความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้มีการเร่งนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของโซ่อุปทานในภาคการผลิต อีกทั้ง เป็นการบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทนและราคาสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออก 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออก มีมูลค่า 81.532.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.2% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 80,451.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.4% โดยไทยการค้าเกินดุล 1,081.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 3.1% (YoY) กลับมาหดตัวในรอบ 9 เดือน โดยสินค้าเกษตร หดตัว 0.5% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 5.7% กลับมาหดตัวในรอบ 9 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป
อาหารสัตว์เลี้ยง ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว ผลิตภัตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 23.5% (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ
สำรวจแนวโน้มการส่งออกในปี 2568 ในช่วงที่เหลือของปีนี้ การส่งออกของไทยเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากการใช้มาตรการปรับขึ้นภาษีอย่างถ้วนหน้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งการใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของนานาประเทศ สร้างความวิตกกังวลต่อภาพรวมการค้าโลก อันอาจนำไปสู่การชะลอตัวทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าการส่งออกไตรมาส 2 ยังมั่นใจว่าขายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ การส่งออกทั้งปี ยังเชื่อว่าส่งออกขยายตัว มีโอกาสขายตัวเกินเป้าหมาย ทั้งนี้ ยังไม่มีการปรับเป้าหมายส่งออกทั้งปี ซึ่งคงอยู่ที่ 2-3%
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อรับมือกับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงนี้ โดยเตรียมความพร้อมด้านการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อลดทอนผลกระทบทางภาษี แสวงหาโอกาสจากวิกฤต โดยการผลักดันสินค้าศักยภาพเข้าไปทดแทนในตลาดสหรัฐฯ และสร้างความร่วมมือทางการค้าเพื่อกระจายตลาดให้มากขึ้น พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและผู้ส่งออกไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจ พัฒนามาตรการเยียวยา และกำหนดแนวทางการรับมือกับสภาวะการค้าที่ทวีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต