CIB เปิดปฏิบัติการ ‘Operation Crypto Phantom’ กวาดล้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลผิดกฎหมาย เงินหมุนเวียนกว่า 14,000 ล้านบาท
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 24 เมษายน ที่อาคารประชาอารักษ์ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป) พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบก.ปอศ.) พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงผลการปฏิบัติ “Crypto Phantom เปิดหน้ากากร้านแลกเหรียญเถื่อน” ต้นตออาชญากรรมอุ้ม, ปล้น, เรียกค่าไถ่ และฟอกเงิน พบเงินหมุนเวียนกว่า 14,000 ล้านบาท
พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิกล่าวว่า ในปัจจุบันอาชญากรรมรูปแบบใหม่กำลังทวีความรุนแรง และมีลักษณะซับซ้อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอาชญากรรมไซเบอร์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ และขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนแผนประทุษกรรมให้ทันสมัยขึ้น ตามพัฒนาการของเทคโนโลยี หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่อาชญากรใช้ในการอำพรางเส้นทางการเงิน คือ “คริปโทเคอร์เรนซี” ซึ่งมักถูกนำมาใช้ในการฟอกเงิน โดยกระบวนการฟอกเงินในปัจจุบัน มีหลายวิธี ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่คนร้ายมักใช้ คือการทำธุรกรรมผ่านร้านแลกเปลี่ยนคริปโทที่ไม่ได้รับอนุญาตในไทย หลังจากนั้น สินทรัพย์ต่างๆ จะถูกถอนออกมาเป็นเงินสด คนร้ายนิยมฟอกเงินที่ได้ผ่านระบบคริปโทเคอร์เรนซี โดยเฉพาะการรับแลกเงินตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั้ง ภูเก็ต สมุย พัทยา รวมกระทั่งกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาทางภาครัฐโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ในการควบคุมผู้ประกอบกิจการ ทั้ง บริษัทผู้ประกอบการ ดีลเลอร์ ฯลฯ การออก พ.ร.ก.นี้ทำให้สามารถต้นทราบต้นทางและปลายทางของผู้ขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนเงินตราจาก ก.ล.ต.มีเพียง 33 บริษัทเท่านั้น
พ.ต.อ.ธีรภาส ยั่งยืน ผกก.3 บก.ปอศ. กล่าวว่า กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศษฐกิจ (กก.3 บก.ปอศ.) ได้สืบสวนพบว่า ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี และภูเก็ต มีร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราแอบแฝงการให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท USD Tether (USDT) แบบ “ชน มือ” ซึ่งก็คือการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งไม่ได้ผ่านศูนย์แลกเปลี่ยนที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โดยการให้บริการลักษณะดังกล่าว มีเป้าหมายชัดเจนในการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินและหลบเลี่ยงภาษี รวมถึงมีการนำเงินที่ได้ไปหมุนเวียนในธุรกิจผิดกฎหมายหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเครือข่ายค้ายาเสพติดและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่า มีธุรกรรมมากกว่า 1,000 รายการ เชื่อมโยงกับเครือข่ายอาชญากรรม และมีเงินหมุนเวียนรวมสูงถึง 425,104,595 USDT หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท
เจ้าหน้าที่ กก.3 บก.ปอศ. จึงได้เปิดปฏิบัติการภายใต้ชื่อ Operation Crypto Phantom ตรวจค้น 8 จุดเป้าหมาย ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี และภูเก็ต ดังนี้
1.อาคารพานิชย์ ในพื้นที่ หมู่ 10 ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ตามหมายค้นของศาลจังหวัดภูเก็ต
2.บริษัท รับแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล แห่งหนึ่งในพื้นที่ ถ.ป่าสัก-โคกโตนด ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
3.บริษัท รับแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล แห่งหนึ่งในพื้นที่ ม.5 เชิงทะเล ถลาง ภูเก็ต
4.อาคารพานิชย์แห่งหนึ่ง ห้องเลขที่ 5, 7 ถนนผังเมืองสาย ก. ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต
5.บริษัท รับแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล แห่งหนึ่งในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
6.บ้านในพื้นที่ ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
7.บ้านในพื้นที่ ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
8.บ้านในพื้นที่ ซอยพระราม 2 ซอย 62 แยก 1-1-2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
โดยพบว่าเป้าหมายลูกค้ารับแลกสินทรัพย์ดิจิทัล คือบรรดาชาวต่างชาติทั้งชาวรัสเซียหรือชาวจีนรวมทั้งชาวต่างชาติอื่นๆ ที่นำเงินมาแลกเปลี่ยนผ่านร้านดังกล่าว ซึ่งการปฏิบัติการครั้งนี้พบผู้กระทำผิดที่ให้บริการแลกเปลี่ยนผิดกฎหมายและอยู่ระหว่างการดำเนินคดี 5 ราย ซึ่งเป็นทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา เข้าข่ายมีความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมตรวจ ยึดของกลางที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ อาทิ คอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง, โทรศัพท์มือถือ 9 เครื่อง, สมุดบัญชีธนาคาร 4 เล่ม, Hardware Wallet 1 เครื่อง, เหรียญที่ระลึก 149 เหรียญ และเอกสารธุรกรรมจำนวนมาก
โดยพฤติกรรมของเครือข่ายนี้มีลักษณะเป็นการเปิด “โต๊ะแลกคริปโท” ให้ลูกค้าชาวต่างชาติใช้เงินบาทแลกเหรียญดิจิทัล หรือแลก USDT กลับเป็นเงินบาท แบบไม่ผ่านระบบ Exchange ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งนำไปสู่การฟอกเงินในต่างประเทศผ่านกระเป๋าเงิดิจิทัลและ Exchange ต่างชาติ ก่อนกระจายเงินเข้าสู่กลุ่มมิจฉาชีพ โดยการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลใน ลักษณะ “ชนมือ” หรือการนัดพบเพื่อแลกเปลี่ยน เหรียญดิจิทัลกับเงินสด นอกสถานที่และนอกระบบที่ได้รับอนุญาต ถือเป็นพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งในด้านความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และการมีส่วนร่วมใน ธุรกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือกิจกรรมผิดกฎหมายอื่นๆ โดยหากพบว่ามีการดำเนินการดังกล่าวโดย บุคคลทั่วไป หรือแม้แต่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบ กิจการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่มีการแอบให้บริการแลกเปลี่ยน สินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน
ดังนั้น จึงขอฝากแจ้งเตือนประชาชนให้เลือกใช้บริการผ่านผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาต อย่าง ถูกต้องตามนโยบายของรัฐบาล และผู้ประกอบการธุรกิจแลกเปลี่ยนสินค้าดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. นั้น ถือเป็นแหล่งฟอกเงินชั้นดีของแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติและก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากธุรกิจการแลกเปลี่ยนเงินตราและสินทรัพย์ดิจิตอลนั้น ล้วนแต่เป็นธุรกิจที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ ซึ่งหากไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล จะมีความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 ซึ่งถือเป็นกฎหมายใหม่ที่มากำกับดูแลการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะ มีโทษจำคุกสูงตั้งแต่ 2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000 ถึง 500,000 บาท และยังปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท รวมทั้งยังจะมีความผิดตามกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายฟอกเงินและกฎหมายฉ้อโกงอีกด้วย