อคส. ครบรอบ 70 ปี พร้อมทำงานตามนโยบายรัฐบาล เรื่อง Food Security
ข่าวสด April 24, 2025 08:40 PM

“อคส.” ครบรอบ 70 ปี พร้อมทำงานตามนโยบายรัฐบาล เรื่อง Food Security กับประเทศตะวันออกกลาง-แบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

24 เม.ย. 68 – นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนาองค์การคลังสินค้า (อคส.) ครบรอบ 70 ปี และมอบนโยบายให้กับ ประธานกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างอคส. โดยมีพ.ต.อ.อดิศร บุญประทีป ประธานกรรมการ อคส. นายฉัตรชัย ศักดิ์ศิลปชัย รองประธานกรรมการอคส. นายธิรินทร์ ณ ถลาง ผู้อำนวยการ อคส. ให้การต้อนรับ

สำหรับกิจกรรมวันคล้ายวันสถาปนา อคส. ครบรอบ 70 ปี เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 6 อคส. ภายในบริเวณกระทรวงพาณิชย์ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี โดยคณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน/ลูกจ้าง ร่วมกันสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในการะทรวง ต่อด้วยพิธีสงฆ์ และร่วมกันรับประทานอาหารกลางวัน ณ ห้องชมวิว/ห้องชมเพลิน ชั้น 6 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

สำหรับประวัติของอคส. ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จําเป็นแก่การครองชีพมีแนวโน้มสูงขึ้น กระทรวงเศรษฐการ (ชื่อเดิมของกระทรวงพาณิชย์) จึงจัดตั้งหอคลังสินค้ากลางในสังกัดของกรมการค้าภายในขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2485 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือดําเนินการรักษาระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในท้องตลาดมิให้สูงขึ้น ต่อมาในปีพ.ศ.2487 หอคลังสินค้ากลางได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คลังสินค้ากลาง” และยกฐานะเป็นกองคลังสินค้าในปีเดียวกัน

กองคลังสินค้าได้ทําหน้าที่รับซื้อและจําหน่ายสิ่งของซึ่งรัฐบาลได้สั่งซื้อมาจากต่างประเทศ เช่น ผ้า เครื่องมือทางการเกษตร ยารักษาโรค เพื่อจําหน่ายให้เกษตรกรในราคาย่อมเยา และสั่งซื้อสินค้าที่จําเป็นแก่การครองชีพมาขายให้แก่ประชาชนทั่วไป

กระทั่งปีพ.ศ.2497 กระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นว่าภารกิจด้านคลังสินค้ามีความสําคัญต่อการพัฒนาการเกษตร จึงมีนโยบายให้ขยายคลังสินค้าให้กว้างขวางออกไป โดยจัดตั้งฉางข้าวและคลังสินค้า เพื่อใช้เป็นสถานที่รับซื้อ จัดเก็บ รับฝากข้าวและพืชผลทางการเกษตรเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตและเป็นศูนย์กลางทางการค้าของบริษัทจังหวัด รัฐบาลจึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “องค์การคลังสินค้า” ขึ้นเมื่อวันที่ 20 เม.2498 และในปีพ.ศ.2540 ได้มีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า

โดยกําหนดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งใหม่คือ “ทํากิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภครวมทั้ง ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค” เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่ผ่านมา อคส.มีบทบาทในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของการช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการรับจํานํา/แทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว มันสําปะหลัง ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม และสินค้าอื่นๆ เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

อคส.ยังมีบทบาทสนับสนุนโครงการช่วยเหลือเกษตรกร เช่น การตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกตามราคาเกณฑ์กลาง การนําเข้าน้ำมันปาล์มดิบเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน การจัดส่งข้าวสารและอาหารให้หน่วยงานราชการ เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และประหยัดงบประมาณ นอกจากนี้ยังเป็นกลไกด้านมนุษยธรรม จัดส่งข้าวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในประเทศและต่างประเทศ จัดทําข้าวสารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลต่างๆ แสดงถึงบทบาทที่หลากหลายทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทางด้าน พ.ต.อ.อดิศร ประธานกรรมการ อคส. กล่าวว่าท่านรัฐมนตรีพิชัยเน้นย้ำให้อคส.ทำโครงการความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) คือจัดจำหน่ายอาหาร-สินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค พร้อมส่งมอบให้กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ตามนโยบายของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าราคาย่อมเยาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน นอกจากนี้ในการประชุมบอร์ดอคส.วันที่ 25 เม.ย.68 บอร์ดจะมีการพิจารณาเรื่องรับผู้บริหารระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการอคส. ซึ่งเป็นคนภายในองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ก่อน 2 ตำแหน่ง รวมทั้งจะพิจารณาเพื่อนำไปสู่การคัดสรรบุคคลภายนอก เข้าทำงานในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ-ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้วย

“อคส. ขาดผู้บริหารระดับรองผู้อำนวยการ-ผู้ช่วยผู้อำนวยการ มาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากคนเก่าๆลาออกไป และคนภายในอคส.ก็โตขึ้นมาไม่ทัน ดังนั้นบอร์ดจึงต้องเร่งพิจารณา เพื่อหาคนเข้ามาช่วยผู้อำนวยการ อคส.ทำงาน” พ.ต.อ.อดิศร กล่าว

ขณะที่ นายธิรินทร์ ผู้อำนวยการ อคส. กล่าวว่าตนพร้อมทำงานตามนโยบายรัฐบาล และรมว.พาณิชย์ โดยเมื่อวันที่ 23 เม.ย.68 ตนพร้อมด้วย ดร มณเฑียร อินทร์น้อย กรรมการอคส. ดร.ปรียานุช สัมฤทธิ์ กรรมการอคส. ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างอคส. กับนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ที่การเคหะแห่งชาติ สำนักงานใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ด้วยการนำสินค้า เกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาย่อมเยามาจำหน่ายในชุมชนของการเคหะฯ ในระยะแรกจะดำเนินการโครงการนำร่องในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ก่อนจะขยายออกไปทั่วประเทศ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.