การรถไฟฯ เสียใจสูญเสียจนท.ระหว่างปฏิบัติงาน แจงมีเครื่อง AED ตามสถานีรถไฟหลักทั่วประเทศ ผู้ว่าการสั่งจัดหาเพิ่ม-จัดแผนฝึกทบทวนทำ CPR ให้ พนง.
จากกรณีแฟนเพจ คลินิกสูตินรีเวชหมอไพพรรณ เปิดเผยถึงการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รถไฟ เนื่องจากหมดสติ หยุดหายใจ โดยแพทย์ผู้เข้าให้การช่วยเหลือทำการ CPR นานกว่า 30 นาที โดยมีผู้โดยสาร 2 ราย ร่วมช่วยกันอยู่ สุดท้ายไม่สามารถช่วยชีวิตพนักงานรถไฟรายดังกล่าวไว้ได้
พร้อมกับตั้งคำถามในฐานะแพทย์ 3 ข้อ คือ ทำไมขบวนรถไฟไม่มีเครื่อง AED ติดไว้, ทำไมเจ้าหน้าที่รถไฟถึงยังไม่ได้รับการฝึก CPR และ ทำไมในนาทีที่ชีวิตแขวนอยู่กับความช่วยเหลือ จึงมีเพียงแค่ผู้โดยสารธรรมดา 2 คนที่ยื่นมือเข้ามา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 เมษายน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยผ่านแฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย แสดงความเสียใจต่อเหตุดังกล่าว โดยระบุว่า ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของพนักงานประจำขบวนรถ และขอขอบคุณผู้โดยสารทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพนักงานประจำขบวนรถที่เกิดอาการแน่นหน้าอกและหมดสติขณะปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างทันท่วงทีจากผู้โดยสารที่อยู่ในเหตุการณ์ รวมถึงมีการปั๊มหัวใจ (CPR) อย่างต่อเนื่อง และได้ประสานรถพยาบาลไว้รอรับที่สถานีที่ใกล้เคียงที่สุด แต่สุดท้ายพนักงานประจำขบวนรถคนดังกล่าวก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา
ตลอดเวลาที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องของการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานแก่พนักงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บหรือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที จึงมีการวางมาตรการเตรียมพร้อมรับมือกรณีผู้โดยสารเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยจัดให้มีห้องปฐมพยาบาล พร้อมพยาบาลวิชาชีพประจำที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า (AED) ตามสถานีรถไฟหลักทั่วประเทศด้วย
นอกจากนี้ ยังกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการดูแลผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงจัดให้มีหมายเลขฉุกเฉินประจำสถานี เพื่อประสานความช่วยเหลือกับหน่วยแพทย์ในพื้นที่ ให้จัดเตรียมรถพยาบาลเพื่อนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้อย่างทันท่วงที
การรถไฟแห่งประเทศไทยยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉิน และการดูแลผู้โดยสาร รวมถึงสุขภาพของบุคลากรอย่างรอบด้าน จึงจัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตเบื้องต้น และการทำ CPR ให้แก่พนักงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องของจำนวนบุคลากรของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อการหมุนเวียนกำลังคนให้มีโอกาสในการเข้ารับการฝึกอบรมอย่างทั่วถึง
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้สั่งการให้เร่งจัดหาเครื่อง AED เพิ่มเติมแล้ว รวมถึงถังออกซิเจนสำรองพร้อมชุดอุปกรณ์ระหว่างที่รอรถพยาบาล และกำชับให้จัดทำแผนฝึกทบทวนการทำ CPR ประจำปีให้กับพนักงานพร้อมกับให้มีการประเมินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้บุคลากรทุกระดับสามารถตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของพนักงานเป็นอย่างยิ่ง จึงร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดกิจกรรม “Doctor Train” หน่วยแพทย์เคลื่อนที่เฉพาะทาง เพื่อตรวจสุขภาพพนักงาน ครอบครัว และประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศอยู่เป็นประจำ โดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
การรถไฟแห่งประเทศไทยขอยืนยันเจตนารมณ์ในการดูแลบุคลากรและผู้โดยสารอย่างเต็มความสามารถ และจะเดินหน้าพัฒนามาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเดินทางกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการทุกคน