ส.ค้าปลีกไทยชี้ปี’68 สุดท้าทาย แนะภาคธุรกิจ ‘ตั้งรับ-รุกกลับ-ปรับตัว’
SUB_TIK April 25, 2025 08:00 AM

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชี้ธุรกิจค้าปลีก 4 ล้านล้านปี’68 สุดท้าทาย หลังภาษีทรัมป์ป่วนทั้งเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย ทุบเม็ดเงินค้าปลีกชะลอตัว สินค้า-ร้านอาหารแบรนด์จีนทะลักกระทบหนักทั้งภาคธุรกิจ-ผู้บริโภค ย้ำผู้ประกอบการไทยแค่ตั้งรับไม่พอต้องรุกกลับและปรับตัว สร้างการเติบโต แนะรัฐอัดมาตรการยาแรงกระตุ้นท่องเที่ยว-จับจ่าย หนุนไทยเป็น Shopping Paradise ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก พร้อมเพิ่มความคล่องตัวให้ธุรกิจไทย

นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ทิศทางของวงการค้าปลีกปี 2568 นี้มีความท้าทายสูงมาก โดยเฉพาะมาตรการกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ที่เสี่ยงทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยและราคาสินค้าทั่วโลกปั่นป่วน หากแต่ละประเทศไม่สามารถตกลงกับสหรัฐได้

สำหรับค้าปลีกไทยนั้นการเติบโตจะชะลอตัวลง เนื่องจากผู้บริโภคชะลอและระมัดระวังการจับจ่าย เพราะขาดความเชื่อมั่นและมีเม็ดเงินในกระเป๋าลดลง จากรายได้ที่น้อยลงตามการชะลอตัวของภาคส่งออก และภาคท่องเที่ยวหลังจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีนลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจและเหตุแผ่นดินไหว ทำให้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ค้าปลีกและแบรนด์สินค้ากลุ่มของใช้ในชีวิตประจำวันระดับแมส-กลาง

ทั้งนี้ สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า เมื่อปี 2567 ธุรกิจค้าปลีกไทยมีมูลค่ารวมประมาณ 4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 16% ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ยอดขายภาคค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง โดยช่วงปี 2567-2568 เติบโต 3.4% ซึ่งต่ำกว่าช่วงปี 2565-2566 ที่เติบโต 5.9% เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำแพงภาษีสหรัฐ กำลังซื้อผู้บริโภคที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงการแข่งขันรุนแรงกับแพลตฟอร์มค้าปลีกต่างชาติอย่าง e-Commerce

สินค้าจีน-ราคาถูกทะลัก

นายณัฐกล่าวว่า หนึ่งในประเด็นที่น่ากังวลที่สุดในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 นี้ คือ การทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจีนซึ่งมีจุดแข็งด้านราคาที่ถูกกว่าสินค้าในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

โดยสินค้าจีนที่เริ่มทะลักเข้ามาและคาดว่าจะมีเข้ามาอีกในอนาคตนั้น ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องประดับและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ, สิ่งทอ รวมถึงร้านอาหาร-เครื่องดื่มที่เข้ามาปักธงขยายสาขา ซึ่งด้วยราคาที่ต่ำสามารถตอบโจทย์สภาพเศรษฐกิจกำลังซื้อ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้บริโภคไทยจะหันไปเลือกซื้อ เนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ

รับมือไม่พอต้องรุกกลับ-ปรับตัว

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าภาคค้าปลีกยังเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะผลักดันการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย ทั้งในส่วนของการจับจ่ายของคนไทยที่คิดเป็น 70% และการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสัดส่วน 30% ของมูลค่ารวม 4 ล้านล้านบาท

โดยทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐไม่เพียงแค่ต้องมีมาตรการรับมือความท้าทายเท่านั้น แต่ยังต้องมีมาตรการรุกกลับเพื่อสร้างการเติบโต รวมถึงปรับตัวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจและเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย

สำหรับการรับมือกับสินค้าราคาถูกและด้อยคุณภาพจากต่างประเทศที่จะทะลักเข้ามานั้น ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าแบบ 100% แทนการสุ่มตรวจในแง่มุมต่าง ๆ ตาม กม. เช่น การมีมาตรฐาน มอก. และฉลากต้องเป็นภาษาไทย

พร้อมพัฒนามาตรการเชิงรุก ปราบปรามธุรกิจนอมินีที่สวมสิทธิคนไทยในทุกระดับตั้งแต่รายย่อยถึงรายใหญ่ และทุกธุรกิจไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร, ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงแรม เพื่อยับยั้งการรั่วไหลของเม็ดเงิน และผลักดันให้รายได้จากภาคค้าปลีกหมุนเวียนกลับสู่ระบบเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทย รวมไปถึงป้องกันการสวมสิทธิผลิตสินค้าที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกไปสหรัฐ

รวมถึงออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% กับสินค้าออนไลน์นำเข้าที่มีมูลค่าตั้งแต่บาทแรกเป็นการถาวร พร้อมสร้างระบบเชื่อมต่อข้อมูลอัตโนมัติกับหน่วยงานรัฐอย่าง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น

“ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการเหล่านี้อาจเรียกเก็บจากฝ่ายผู้นำเข้า-ส่งออกที่ต้องการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในไทย เพื่อไม่ให้เป็นภาระของหน่วยงานของไทย” นายณัฐกล่าว

อัดยาแรงปลุกท่องเที่ยว-จับจ่าย

ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังต้องใช้ยาแรงเพื่อดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ โดยส่งเสริมให้ไทยเป็น Shopping Paradise ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วย 2 มาตรการ คือ นโยบายคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ทันทีที่ร้านค้า ให้กับนักท่องเที่ยวเมื่อมียอดซื้อสินค้าขั้นต่ำซึ่งจะกำหนดให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น 3,000 บาทขึ้นไปต่อร้านค้าต่อวัน เพื่อใช้ปัจจัยความสะดวกจากการได้รับเงินภาษีคืนทันทีมากระตุ้นให้จับจ่ายมากขึ้นกว่าปกติ

ทั้งนี้ สมาคมอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการรับมือการใช้ช่องโหว่จากมาตรการนี้ ด้วยการศึกษาเหตุที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มาปรับใช้ เพื่อนำเสนอให้หน่วยงานรัฐของไทย

อีกมาตรการคือ แซนด์บอกซ์เขตปลอดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์ (Free Tax Zone) โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น,เครื่องสำอาง, เครื่องหนัง และน้ำหอม โดยอาจเริ่มที่สินค้าจากอเมริกาเป็นประเทศแรก และเริ่มโครงการในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน รวมถึงส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-สหรัฐไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากนำมาตรการทั้ง 2 มาใช้จริงจะสามารถสร้างเม็ดเงินในวงการค้าปลีกได้ถึงระดับแสนล้านบาท โดยมาตรการ Tax Refund จะสามารถสร้างเม็ดเงินเพิ่มได้ถึงหมื่นล้านบาท ส่วน Sand Box อาจสร้างเม็ดเงินได้ตั้งแต่ระดับหมื่นล้านถึงแสนล้านบาท

“หากเป็นไปได้ สมาคมอยากพบปะพูดคุยกับหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงการคลัง เพื่อเสนอมาตรการเหล่านี้ในช่วงไตรมาส 2 หรือ 3 เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะสามารถเริ่มนำมาใช้จริงในช่วงปี 2569”

กำจัดความซับซ้อน-ล้าสมัย

นายณัฐกล่าวต่อไปอีกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มความคล่องตัวให้ธุรกิจไทย ด้วยการลดกฎระเบียบที่ล้าสมัยและซับซ้อนลง เช่น ลดจำนวนและขั้นตอนการขอใบอนุญาตหลายใบให้อยู่ในใบเดียว (Super License) และผ่านระบบกลาง (Biz Portal) ครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น ใบอนุญาตเปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร และใบอนุญาตก่อสร้าง พร้อมกระตุ้นการลงทุนในเมืองรองด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่าน BOI เป็นต้น

รวมถึงสนับสนุนเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกำแพงภาษี โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและพัฒนานวัตกรรมสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ พร้อมผลักดันให้ได้รับการรับรอง “Made in Thailand” จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสัญลักษณ์ Thai SELECT จากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และการันตีคุณภาพอาหารไทย เพื่อเสริมซอฟต์พาวเวอร์และโอกาสการส่งออก

“ค้าปลีกไทยจะสู้ด้วยราคาถูกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและแบรนด์ด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ อย่าง การบริการ บรรยากาศร้าน หน้าตาเว็บเพจ เป็นต้น เพราะเราไม่สามารถทำราคาแข่งกับต่างชาติ เช่น จีน ได้แน่นอน” นายณัฐกล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.