เมื่อไม่นานนี้ สื่อจีนรายงานว่า นักวิจัยจากสถาบันวิจัยหมายเลข 705 ภายใต้การดูแลของบริษัทอู่ต่อเรือแห่งรัฐจีน (China State Shipbuilding Corporation: CSSC) ได้พัฒนาอาวุธต้นแบบชนิดใหม่ เรียกขานกันว่า “ระเบิดไฮโดรเจนแบบไม่ใช้นิวเคลียร์” โดยมีน้ำหนักเพียง 2 กิโลกรัม แต่สามารถสร้างความร้อนสูงเกิน 1,000 องศาเซลเซียสในพื้นที่เป้าหมาย และยังมีประสิทธิภาพในการสร้างเปลวไฟต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 วินาที ยาวนานกว่าระเบิดทีเอ็นทีทั่วไปถึง 15 เท่า
หัวใจสำคัญของระเบิดชนิดนี้ คือการใช้ “แมกนีเซียมไฮไดรด์” (MgH₂) ซึ่งเป็นสารประกอบเคมีที่สามารถเก็บกักไฮโดรเจนในรูปของแข็ง เมื่อถูกจุดระเบิดด้วยวัตถุระเบิดแบบธรรมดา สารประกอบดังกล่าวจะแตกตัวและปลดปล่อยก๊าซไฮโดรเจนออกมาในปริมาณมาก จากนั้นก๊าซจะลุกไหม้ทันที สร้างลูกไฟที่ร้อนจัด แผ่ขยายอย่างรวดเร็วไปทั่วบริเวณเป้าหมาย
แม้ว่าระเบิดนี้จะมีแรงอัดต่ำกว่าระเบิดทีเอ็นทีเพียง 40% แต่สิ่งที่อันตรายมากกว่าคือความร้อนที่แผ่กระจาย สามารถเผาโลหะให้ละลายได้ในพื้นที่กว้าง ลักษณะการทำลายล้างคล้ายกับอาวุธนาปาล์มหรือระเบิดเทอร์โมบาริก (Thermobaric Bomb) มากกว่าจะเทียบเท่าอาวุธนิวเคลียร์
นักวิจัยจีนระบุว่า ระเบิดไฮโดรเจนชนิดนี้สามารถใช้ในภารกิจหลากหลาย เช่น การสกัดกั้นพื้นที่ไม่ให้ศัตรูเข้าถึง (Area Denial) การทำลายเป้าหมายเฉพาะจุด เช่น รถยนต์ ยุทโธปกรณ์ หรือฝูงโดรน แถมยังสามารถสร้างอุณหภูมิสูงในบริเวณหนึ่งให้กลายเป็นพื้นที่อันตรายชั่วคราว
เปลวไฟที่เกิดขึ้นจากระเบิดนี้ไม่ได้เป็นเพียงผลของการเผาไหม้ทั่วไป แต่เป็นกระบวนการความร้อนแบบลูกโซ่ (Thermal Chain Reaction) ที่สามารถดำเนินต่อเนื่องจนเชื้อเพลิงหมดสิ้น เป็นผลให้เป้าหมายต้องเผชิญกับความร้อนที่ต่อเนื่องและยาวนาน
เดิมทีแมกนีเซียมไฮไดรด์ถือเป็นสารเคมีที่ผลิตได้ยาก ต้องใช้กระบวนการพิเศษในห้องปฏิบัติการ แต่ปัจจุบันจีนสามารถผลิตสารนี้ในระดับอุตสาหกรรมได้ถึงปีละ 150 ตัน ด้วยวิธีการที่ปลอดภัยและประหยัดต้นทุน ซึ่งเปิดทางให้มีการผลิตอาวุธชนิดนี้ในปริมาณมาก
แม้ระเบิดชนิดนี้จะมีความรุนแรงสูง แต่เนื่องจากไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ จึงไม่เข้าข่ายละเมิดสนธิสัญญาห้ามแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) ทำให้จีนสามารถพัฒนา ทดสอบอาวุธนี้ได้โดยไม่กระทบต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ
นักวิจัยจีนย้ำว่า จุดเด่นของระเบิดนี้คือความสามารถในการควบคุมระดับความรุนแรงของการระเบิด และการแพร่กระจายของเปลวไฟได้อย่างแม่นยำ ทำให้สามารถใช้ในภารกิจเฉพาะทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมีข้อจำกัดทางกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ
แม้ระเบิดไฮโดรเจนแบบไม่ใช้นิวเคลียร์ของจีนจะยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา แต่ก็ถือเป็นแนวโน้มใหม่ของอาวุธยุทธศาสตร์ ที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าสมรภูมิในอนาคต โดยใช้พลังความร้อนและเวลาเป็นเครื่องมือสำคัญในการยับยั้งศัตรู มากกว่าการพึ่งพาแรงระเบิดมหาศาลเช่นอาวุธในอดีต
ข่าวล่าสุด