การบินไทย ร่วมทุน KMC ต่อยอดธุรกิจดัดแปลงเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER เป็นอากาศยานขนส่งสินค้า 
ข่าวสด April 26, 2025 08:23 AM

การบินไทย ร่วมทุน KMC ต่อยอดธุรกิจดัดแปลงเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER เป็นอากาศยานขนส่งสินค้า

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่25 เม.ย. 2568 การบินไทยได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับนาย James Allen Gibbs ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Kansas Modification Center, LLC. ในโครงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อดำเนินธุรกิจดัดแปลงอากาศยานโดยสาร แบบโบอิ้ง 777-300ER เป็นอากาศยานขนส่งสินค้า (Passenger-to-Freighter, P2F) ณ สำนักงานใหญ่ การบินไทย ถนนวิภาวดีรังสิต

การร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการบินไทย และของประเทศไทยในการขยายศักยภาพด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน เสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ด้านการดัดแปลงอากาศยานซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ยาก รวมถึงยังเป็น การขยายโอกาสทางธุรกิจของบริษัทฯ

นอกจากนี้เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการบินให้มีความครบวงจร สร้างรายได้ให้กับหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรมซ่อมบำรุง อากาศยาน ตั้งแต่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ จนถึงอุตสาหกรรมดัดแปลง อากาศยานซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ

นายชายกล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ของประเทศใน 3 มิติหลัก ได้แก่

1. เสริมสมรรถนะทางเทคโนโลยี : ถ่ายทอดองค์ความรู้ (Technology-Transfer) การดัดแปลงเครื่องบิน P2F จากผู้เชี่ยวชาญสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ยาก

2. พัฒนาห่วงโซ่อุปทานการบิน : สร้างระบบนิเวศการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเพื่อสนับสนุนการดัดแปลง เครื่องบิน P2F ภายใต้ลิขสิทธิ์จาก บริษัท KMC และบริษัทพันธมิตรของ KMC

3. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ : สร้างตำแหน่งงานคุณภาพในอุตสาหกรรมการบินกว่า 500 ตำแหน่ง

นาย Bong Chul Park ประธาน บริษัท KMC เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับการบินไทยในครั้งนี้ นับเป็นช่วงเวลาสำคัญของ KMC เนื่องจากเราได้นำความสามารถในการปรับปรุงเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก

เราภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับการบินไทยในการจัดทำโครงการปรับปรุงเครื่องบินขนส่งสินค้าชั้นนำ ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมประตูห้องบรรทุกสินค้าด้านหน้า ของเราเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนวิสัยทัศน์การเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคที่กว้างไกลขึ้นอีกด้วย

โดยการผสมผสานความเชี่ยวชาญทางเทคนิคของเราเข้ากับทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยและโครงสร้างพื้นฐานด้าน MRO ที่กำลังเติบโต เรามั่นใจว่าการร่วมทุนครั้งนี้จะสร้างมาตรฐานใหม่ด้านการปรับปรุงเครื่องบิน

นอกจากนี้ ความคิดริเริ่มนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการถ่ายทอดความรู้และการพัฒนากำลังคน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่นและตอกย้ำสถานะของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินแห่งใหม่

สำหรับโครงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อดำเนินธุรกิจดัดแปลงอากาศยานโดยสาร แบบ B777-300ER เป็นอากาศยานขนส่งสินค้า (Passenger-to-Freighter, P2F) มีแผนดำเนินการดัดแปลง ณ ศูนย์ซ่อมบำรุง อากาศยานดอนเมือง และพื้นที่บริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีศูนย์ ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่มีขีดความสามารถในการให้บริการดัดแปลงอากาศยาน สำหรับโบอิ้ง 777-300ER แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย รวมถึงต่อยอดยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ในภูมิภาค

สำหรับบริษัท KMC ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมดัดแปลงอากาศยาน สำหรับโบอิ้ง 777-300ER ในฐานะผู้บุกเบิกเทคนิคการดัดแปลงรูปแบบประตูสินค้าอยู่บริเวณลำตัวส่วนหน้า (Forward Cargo Modification)

ซึ่งแตกต่างจากมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เน้นรูปแบบประตูสินค้าอยู่บริเวณลำตัวส่วนท้าย ส่งผลให้เครื่องบินมีประสิทธิภาพเชิงน้ำหนัก (Weight Efficiency) ที่สูงกว่า เหมาะสมสำหรับการขนส่งสินค้าระยะไกล

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.