'ฮีทสโตรก' คร่าชีวิตพุ่ง กรมอนามัย เตือน 4 จังหวัดใต้ อันตรายมาก
bangkokbiz April 28, 2025 07:53 AM

(27 เม.ย. 68) กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ออกโรงเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฮีทสโตรก หลังพบแนวโน้มผู้เสียชีวิตจากฮีทสโตรกเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยข้อมูลย้อนหลัง 6 ปี (พ.ศ. 2562 - 2567) พบผู้เสียชีวิตสะสมถึง 212 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 27 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (197 ราย) อายุระหว่าง 41-60 ปี และมีปัจจัยเสี่ยงร่วม เช่น โรคประจำตัว ทำกิจกรรมกลางแจ้ง และดื่มสุรา

สำหรับสถานการณ์ในปี 2568 พบผู้ป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อน กลุ่มฮีทสโตรก แล้วจำนวน 32 ราย คิดเป็น 0.07 ต่อแสนประชากร โดยจังหวัดตราดมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือ สระแก้ว ปราจีนบุรี เลย นครราชสีมา และแพร่

 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการคาดการณ์ดัชนีความร้อนของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 6 พฤษภาคม 2568 พบว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย (สีส้ม) หรือ 42.0 – 51.9 องศาเซลเซียส ไปจนถึงระดับอันตรายมาก (สีแดง) หรือมากกว่าหรือเท่ากับ 52 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต ปัตตานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ที่คาดการณ์ว่าจะเผชิญกับระดับความร้อนที่อันตรายมาก

ทั้งนี้ ดัชนีความร้อนเป็นค่าที่บ่งบอกถึงอุณหภูมิที่ร่างกายรู้สึกได้จริง ซึ่งมักจะสูงกว่าอุณหภูมิอากาศ เนื่องจากมีปัจจัยของความชื้นสัมพัทธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่ออากาศร้อนและความชื้นสูง การระบายความร้อนของร่างกายผ่านการระเหยของเหงื่อจะทำได้ยาก ทำให้ร่างกายรู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิจริง
 

สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่ระบุว่า ในปี ค.ศ. 2050 ประชากรกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก จะเผชิญกับอุณหภูมิที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างน้อย 20 วันต่อปี และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากความร้อนในกลุ่มประเทศเขตร้อนอาจเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่เปราะบาง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองในช่วงที่อากาศร้อนจัด โดยให้หมั่นสังเกตอาการของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรดื่มน้ำบ่อยๆ แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม ควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น ชาเขียว น้ำอัดลม และเครื่องดื่มมึนเมา

หากพบว่ามีอาการตัวร้อนจัด ผิวหนังแดงและแห้ง หัวใจเต้นเร็วและแรง สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง คลื่นไส้ หรือมีอาการคล้ายจะเป็นลม ให้รีบลดอุณหภูมิร่างกายโดยการใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ และขาหนีบ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669 หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องและทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.