ลุ้นระทึก! ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดประชุมวันที่ 30 เม.ย.68 เพื่อพิจารณาคำร้องของ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ออกหมายจับและออกหมายขัง "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมารับโทษที่เหลืออยู่ เนื่องจากเห็นว่านับตั้งแต่ นายทักษิณ เดินทางกลับมาประเทศไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ยังไม่ได้ถูกคุมขังในเรือนจำเลย กำลังเป็นที่สนใจของสังคม โดยเชื่อว่ากรณีดังกล่าวจะส่งผลให้มีแรงกระเพื่อมทางการเมืองเกิดขึ้น
-22 สิงหาคม 2566
นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทย หลังลี้ภัยอยู่ต่างประเทศกว่า 15 ปี โดยเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวจากสิงคโปร์ ถึงสนามบินดอนเมือง เวลาประมาณ 09.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทันที ก่อนส่งตัวไปคุมขังที่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
-23 สิงหาคม 2566
ช่วงกลางดึก นายทักษิณมีอาการ ความดันโลหิตสูงรุนแรง แน่นหน้าอก และหายใจไม่ออก กรมราชทัณฑ์จึงมีคำสั่งส่งตัวไปรักษาที่ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อความปลอดภัย
-1 กันยายน 2566
ได้รับพระราชทาน อภัยโทษ เหลือโทษจำคุกเพียง 1 ปี จากโทษเดิมที่สะสมจากหลายคดี
-23 ตุลาคม 2566
นายทักษิณเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ที่ ห้องออร์โธปิดิกส์ ของโรงพยาบาลตำรวจ และเข้าพักต่อที่ ห้อง ICU ศัลยกรรมประสาท (NICU) เพื่อดูแลฟื้นตัวอย่างใกล้ชิด
-22 ธันวาคม 2566
ครบกำหนด 120 วัน ของการรักษาตัวนอกเรือนจำตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับผู้ต้องขังป่วยหนัก
-31 สิงหาคม 2567
ครบกำหนดโทษจำคุก ตามพระราชทานอภัยโทษ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.66 ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งให้ยกคำร้องที่นายชาญชัย, นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา และแกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่ได้ร่วมกันยื่นขอให้ไต่สวนบังคับคดีโทษจำคุกนายทักษิณใน 3 คดี คือ คดีเอ็กซิมแบงก์ คดีหวยบนดิน และคดีทุจริตแปลงสัมปทานมือถือ-ดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิต โดยระบุว่าทั้ง 3 คดีสิ้นสุดแล้ว การบังคับโทษและการอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ส่วนเจ้าหน้าที่ปฎิบัติชอบหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณา