'ไทรอยด์เป็นพิษ' อันตรายถึงชีวิต ถ้าไม่รีบรักษา
Ton_Online April 28, 2025 06:02 PM

ต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่ช่วยผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ควบคุมกระบวนการเผาผลาญ กระตุ้นการเต้นของหัวใจ รักษาสมดุลอุณหภูมิในร่างกาย และการหลั่งเหงื่อ หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายทุกระบบ ได้แก่

ผลกระทบจากโรคไทรอยด์

โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ โรคคอพอก

อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ/ มีความเสี่ยงภาวะหัวใจวาย

อาการภาวะสมองขาดเลือด / ทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิต

‘ไทรอยด์เป็นพิษ’ คืออะไร?

โรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือ ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายสูงเกินความจำเป็น ทำให้ระบบเผาผลาญพลังงานทำงานมากผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายในหลาย ๆ ด้าน เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ผมร่วง นอนไม่หลับ และอารมณ์แปรปรวน

สาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุของโรคไทรอยด์เป็นพิษอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยมีปัจจัยสำคัญ ดังนี้

  • ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากผิดปกติ
  • ต่อมไทรอยด์อักเสบ ทำให้ฮอร์โมนที่สะสมไว้ถูกปล่อยออกมาทีละมาก ๆ
  • ได้รับฮอร์โมนไทรอยด์เกิน จากการใช้ยา หรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของไทรอยด์ฮอร์โมน
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาอะมิโอดาโรน
  • ภาวะแพ้ท้องอย่างรุนแรง หรือมีเนื้องอกในรังไข่ที่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้
  • เนื้องอกของต่อมใต้สมอง ที่สร้างฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์มากเกินไป

อาการต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เช่น

  •  ต่อมไทรอยด์ บริเวณลำคอ บวมหรือโตขึ้น
  • ง่วง ซึม เครียด นอนไม่หลับ
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ผมร่วง
  • เหงื่อออกมาก รู้สึกหนาวตลอดเวลา อารมณ์แปรปรวน
  • หิวบ่อย กินมากขึ้น แต่น้ำหนักลด หรือ ตัวบวม น้ำหนักขึ้น
  • ถ่ายเหลวบ่อย ประจำเดือนมาผิดปกติ

การตรวจวินิจฉัยโรค

การตรวจต่อมไทรอยด์สามารถทำได้หลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับอาการและความสงสัยของแพทย์ว่ามีภาวะผิดปกติหรือไม่ โดยทั่วไปมีวิธีตรวจที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ดังนี้

1. การซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น

  • แพทย์จะสอบถามอาการ เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย ผมร่วง น้ำหนักเปลี่ยนแปลง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
  • ตรวจลำคอเพื่อหาก้อน หรืออาการบวมบริเวณต่อมไทรอยด์

2. การเจาะเลือดตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์

เป็นวิธีที่ใช้บ่อยที่สุด ประกอบด้วย

  • TSH ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์
  • Free T3 และ Free T4 วัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในกระแสเลือด

ถ้า TSH ต่ำ แต่ T3 และ T4 สูง มักบ่งชี้ว่าเป็นไทรอยด์เป็นพิษ

3. การอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์

  • ตรวจดูขนาด รูปร่าง และลักษณะของก้อนในต่อมไทรอยด์

4. การกลืนแร่รังสี (RAIU) หรือ สแกนไทรอยด์ (Thyroid scan)

  • ใช้เพื่อดูการดูดซึมของต่อมไทรอยด์ ว่าทำงานมากหรือน้อยเกินไป
  • ใช้ตรวจหาสาเหตุของภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เช่น โรคเกรฟส์ หรือก้อนร้อน (Toxic nodule)

การตรวจที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับอาการ และข้อสงสัยของแพทย์ หากคุณมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง

ไทรอยด์ ถ้าไม่รีบรักษาอันตรายแค่ไหน?

หากปล่อยให้โรคไทรอยด์โดยเฉพาะภาวะ ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) หรือ ไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) ดำเนินไปโดยไม่รักษา อาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อร่างกายและชีวิตได้ ดังนี้

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • ผลต่อสมองและระบบประสาท
  • ผลต่อระบบเผาผลาญ
  • ผลต่อระบบฮอร์โมนและระบบสืบพันธุ์
  • เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง อาทิ วิกฤตไทรอยด์เป็นพิษ

แนวทางการรักษา“โรคไทรอยด์เป็นพิษ”

การรับประทานยาต้านฮอร์โมนไทรอยด์ (ยาต้านไทรอยด์)ช่วยออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ขึ้นมาใหม่ ช่วยให้อาการต่างๆที่เกิดจากการเผาผลาญในร่างกายที่สูงเกินหายไป เช่น อาการใจสั่น เหนื่อย น้ำหนักลด

การกินไอโอดีน-131 หรือที่เรียกกันว่า การกลืนแร่รังสีไอโอดีน เป็นวิธีการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ได้ผลดี และได้รับการยอมรับทางการแพทย์

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนหรือการผ่าตัดออกทั้งหมด ทำให้ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ แต่อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เสียงแหบ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นช่วยให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลง ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาน้อยลง วิธีนี้ช่วยให้อาการต่างๆ หายไป

เทคโนโลยีการรักษาโรคไทรอยด์ “การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปาก”
เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ทำได้ใกล้กับตำแหน่งของต่อมไทรอยด์มากที่สุด ทำให้มีความเสี่ยงน้อย เสียเลือดน้อย ลดการบาดเจ็บทั้งการที่เส้นประสาทถูกตัดขาดและเส้นประสาทช้ำหลังผ่าตัดได้ดี ใช้เวลาน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวไว สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น

การตรวจคัดกรองความเสี่ยงไทรอยด์ จึงมีความสำคัญในการช่วยรักษาและดูแลผู้ป่วยในระยะยาว หากตรวจพบว่า “ไทรอยด์เป็นพิษ” ผู้ป่วยควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ เพื่อการรักษาอย่างเหมาะสม กับสภาวะของแต่ละบุคคล เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้กลับมาแข็งแรง ปลอดภัย และมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว

บทความโดย : แพทย์หญิง วลัยพร เลาหวินิจ เฉพาะทางอายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิซึม
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.