รวมกูรูและขุนพลกฎหมายเพียบ ทั้งราชบัณฑิต อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีศาล อัยการสูงสุด อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ และศาสตราจารย์ทางกฎหมายเลื่องชื่อ
วันที่ 29 เมษายน 2568 แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 1 พ.ค. 2568 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งจะมีการพิจารณาระเบียบวาระเกี่ยวกับการคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ว่าจะสามารถร่วมทำหน้าที่กรรมการร่วมพิจารณาระเบียบวาระเกี่ยวกับบริษัทในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น ได้หรือไม่
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นทรูไอดี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อปี 2566 โดยกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีที่สำนักงาน กสทช. มีการออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย ซึ่งอาจทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย และอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่โจทก์นำไปออกอากาศ ต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดี เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567 และเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2568 ได้มีคำพิพากษาสั่งจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดี และได้ปฏิบัติหน้าที่กสทช.มาอย่างต่อเนื่อง
หลังจากศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้อง บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันยื่นคำร้องคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ ส่งไปยังศาลอาญาคดีทุจริตฯเพื่อให้ศาลสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ กสทช. และประธานอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แต่เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว และในวันเดียวกัน ทั้งสองบริษัท ยังได้ส่งหนังสือคัดค้านไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่พิจารณาวาระใดๆที่เกี่ยวกับกลุ่มบริษัททรูฯ มาถึง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง และประธาน กสทช. ที่สำนักงานกสทช.ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการนำหนังสือดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช. พบว่ามีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจของทั้งสองบริษัท บอร์ด กสทช.เสียงข้างมากจึงมีมติไม่รับพิจารณาหนังสือคัดค้านฉบับดังกล่าว และหนังสือคัดค้านยังขาดความชัดเจนว่าเกี่ยวกับสิทธิของผู้คัดค้านในการคัดค้านเรื่องที่จะมีการพิจารณาทางปกครองในวาระการพิจารณา เนื่องจากเนื้อหาของคำคัดค้านเป็นการกล่าวในลักษณะคาดการณ์ล่วงหน้าแบบเหมารวม เป็นเหตุให้ขาดความชัดเจนในการพิจารณาเหตุแห่งการคัดค้านตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่โดยปกติจะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป
ภายหลังศาลมีคำพิพากษา แม้ว่าคดีจะยังไม่สิ้นสุด แต่ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 5/2568 (ต่อเนื่อง) วันที่ 19 และ 21 ก.พ. 2568 เมื่อถึงการพิจารณาระเบียบวาระที่ 5.2 สัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง การไฟฟ้านครหลวง กับบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัดฯ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ จะมีสิทธิร่วมพิจารณาระเบียบวาระเกี่ยวกับบริษัทในเครือทรูหรือไม่ ซึ่งตามข้อมูลจากแหล่งข่าว ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรองให้เหตุผลว่า กสทช. ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 11/2567 ไม่รับพิจารณาหนังสือคัดค้านลงวันที่ 2 เมษายน 2567 ไปแล้ว ดังนั้น หนังสือคัดค้านดังกล่าวจึงเป็นที่ยุติ และตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ประธาน กสทช. จะหยิบยกประเด็นแห่งการคัดค้านขึ้นมาเองไม่ได้ และชี้แจงว่าตนไม่มีสภาพร้ายแรงตามมาตรา 16 (1) แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เนื่องจากขณะนี้คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด อีกทั้งผู้พิพาทในคดีกับผู้รับอนุญาตที่อยู่ในระเบียบวาระการพิจารณาเป็นคนละนิติบุคคลกัน ประกอบกับวาระที่พิจารณาไม่เกี่ยวกับประเด็นที่พิพาทในคำพิพากษา ไม่ได้ส่งผลต่อรูปคดี แต่เป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตจากกสทช.
ในวันดังกล่าว ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี สำนักงานกสทช.แจ้งต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากกสทช. พิรงรองได้ชี้แจงไปแล้วว่าตนไม่มีสภาพความไม่เป็นกลางอย่างร้ายแรงด้วยเหตุผลดังกล่าว ดังนั้น จึงยังไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณาตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ส่วน กสทช. ด้านกฎหมาย ได้ให้ความเห็นว่า กสทช. พิรงรองต้องออกจากห้องประชุม เพื่อให้กรรมการที่เหลือลงมติว่า กสทช. พิรงรองมีสภาพร้ายแรงหรือไม่ ขณะที่กรรมการอีกสองคนไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการลงมติดังกล่าว ท้ายที่สุด ที่ประชุม กสทช. จึงประนีประนอมกันโดยมีมติให้หารือต่ออนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของกสทช.ซึ่งมีกำหนดประชุมพิจารณาวาระนี้ในวันพฤหัสที่ 1 พ.ค. 2568
ทั้งนี้ อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธาน กสทช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์สูงมาก ประกอบด้วย
1. ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ประธานอนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช. พล.อ.ท. ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ)
2. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมการคณะกรรมการกฤษฎีกา อดีตศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.)
3. ศาสตราจารย์พิเศษ เข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดยประธาน กสทช.)
4. ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช. รศ. ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย)
5. ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน และอดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.ศุภัช)
6. ศาสตราจารย์ ดร.จตุรนต์ ถิระวัฒน์ ราชบัณฑิต ประเภทวิชานิติศาสตร์ สาขาวิชากฎหมายระหว่างประเทศ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ปัจจุบัน เป็นผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช. รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์)
7. พลเอก เชิดชัย อังศุสิงห์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช. พล.ต.อ. ดร. ณัฐธร เพราะสุนทร)
8. พลตำรวจตรี ปิยะวัฒน์ บุญยืนอนนต์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร เพิ่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการทำความตกลงทางกาค้าเสรี สภาผู้แทนราษฎร อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.ณัฐธร)
9. พันตำรวจเอก ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช. ศ.กิตติคุณ ดร. พิรงรอง)
10. นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.สมภพ)
11. นายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.พิรงรอง)
12. นายวีรพล ปานะบุตร อดีตรองอัยการสูงสุด อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.ต่อพงศ์ เสลานนท์)
13. นายเพิ่มสิน วิชิตนาค รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.ต่อพงศ์)
14. นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม อนุกรรมการ (เสนอชื่อโดย กสทช.ธนพันธุ์)
จึงต้องจับตาดูกันต่อไปว่านักกฎหมายระดับกูรูเหล่านี้จะมีการพิจารณาว่าอย่างไร เพราะประเด็นเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีของกสทช.พิรงรอง เป็นที่ถูกจับตากันอย่างกว้างขวางในสังคม
หากอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของกสทช.พิจารณาว่าบริษัทใดๆในกลุ่มบริษัททรูคือคู่กรณีกับกสทช.พิรงรอง ทั้งๆที่ผู้ฟ้องคือ บริษัททรูดิจิทัล เป็นคนละนิติบุคคลกันและไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตในการกำกับดูแลของกสทช. ก็จะเปิดช่องให้มีการลงมติในกรรมการ 7 คนว่าจะให้ กสทช.พิรงรองอยู่ร่วมประชุมต่อได้หรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องได้เสียงมากกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมด และด้วยความแตกแยกในบอร์ดกสทช. ในปัจจุบันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ยากมากทีเดียว