ธปท.เผยเศรษฐกิจไทย มี.ค. 68 ชะลอตัว นักท่องเที่ยวูบหนัก -9% การบริโภคชะลอ
PUM Online April 30, 2025 03:20 PM

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคมชะลอตัวจากเดือนก่อน ตามการบริโภคและจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง -9.0% จากนักท่องเที่ยวจีนลดลง ด้านการส่งออก -2.0% ส่วนเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/68 ยังขยายตัวได้ตามเร่งการส่งออกหนีสงครามการค้าขยายตัว 15%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคมชะลอลงจากเดือนก่อนจากภาคบริการ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น
โดยเศรษฐกิจไทยโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวจากไตรมาสก่อน ตามการเร่งส่งออกสินค้าที่ขยายตัว 15% สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม จากความกังวลต่อมาตรการทางการค้าของสหรัฐ ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมภาคท่องเที่ยวปรับลดลงตามจำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจีนที่กังวลด้านความปลอดภัยและการลงทุนภาคเอกชนลดลง สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเทียบกับไตรมาสก่อน ตามราคาหมวดอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารตามราคาเครื่องประกอบอาหารและอาหารสำเร็จรูป

ขณะที่หมวดพลังงานปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการจ้างงานในภาคบริการ ขณะที่การจ้างงานในภาคการผลิตลดลง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นตามการส่งออกที่เร่งขึ้น

โดยตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 1/2568 โดยรวมชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยอุปสงค์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศลดลงจากที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุด สะท้อนจากการอนุมัติสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ยังหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับอุปทานที่อยู่อาศัยที่ลดลงตามจำนวนที่อยู่อาศัยอาคารชุดเปิดขายใหม่ สำหรับราคาที่อยู่อาศัยในภาพรวมสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวราบ ส่วนหนึ่งจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น

สำหรับดัชนีเครื่องชี้ในเดือนมีนาคม 2568 ในส่วนการบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน -0.5% โดยหมวดบริการลดลงจากหมวดโรงแรมและภัตตาคารเป็นสำคัญ สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ลดลง หมวดสินค้าไม่คงทนลดลงจากยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าคงทนลดลงจากทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หลังจากที่เร่งไปในช่วงต้นปี หมวดสินค้ากึ่งคงทนลดลงตามปริมาณการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และยอดขายสินค้ากึ่งคงทน

สำหรับความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องผลกระทบนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน -1.0%จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการนำเข้าสินค้าทุนสุทธิที่ลดลง โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ และสินค้ากลุ่มวิทยุ โทรทัศน์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการสื่อสาร ขณะที่ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศทรงตัว และหมวดยานพาหนะที่ลดลงสะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งและรถกระบะเป็นสำคัญ

สำหรับหมวดก่อสร้างทรงตัวจากเดือนก่อน โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างหมวดที่มิใช่ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดที่อยู่อาศัยลดลงจากบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ สอดคล้องกับภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมที่ยังซบเซา

และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน -9.0% ในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียและกลุ่มตะวันออกกลางจากการเข้าสู่เดือนรอมฎอนเร็วกว่าปีก่อน ประกอบกับนักท่องเที่ยวจีนยังหดตัว แต่น้อยลงกว่าเดือนก่อน สำหรับรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน ตามค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากนักท่องเที่ยวระยะไกล (long-haul) ในบางสัญชาติที่เพิ่มขึ้น อาทิ รัสเซีย และออสเตรเลีย

ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลง -2.0% จากเดือนก่อน ตามการส่งออก 1.หมวดโลหะมีค่า จากการส่งออกทองคำขาวไปอินเดีย หลังศุลกากรอินเดียปรับเงื่อนไขการนำเข้าให้เข้มงวดมากขึ้น 2.หมวดเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกน้ำตาลไปอินโดนีเซีย หลังเร่งไปแล้วในเดือนก่อน
และ 3.หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปสหรัฐฯ และออสเตรเลีย

อย่างไรก็ดี การส่งออกในบางหมวดปรับเพิ่มขึ้นมาก อาทิ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ตามการเร่งส่งออกไปสหรัฐจากความกังวลต่อการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และหมวดโลหะ ตามการส่งออกโลหะอื่น ๆ ไปนอร์เวย์

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์เดือนมีนาคม 2568 เงินบาทเฉลี่ยทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับนโยบายการค้าของสหรัฐเป็นไปตามที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี ในเดือนเมษายน 2568 (ข้อมูลถึง 25 เมษายน 2568) เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยช่วงแรกเงินบาทปรับอ่อนค่าหลังสหรัฐฯ ประกาศจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ สูงกว่าที่ตลาดคาด

อย่างไรก็ดี เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นหลังสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการจัดเก็บภาษีฯ ในอัตราสูงสุดกับประเทศต่าง ๆ ออกไป 90 วัน ประกอบกับเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่า ตามความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้านดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เฉลี่ยปรับอ่อนลงตามเงินบาทที่เคลื่อนไหวอ่อนค่านำสกุลเงินภูมิภาค ส่วนหนึ่งจากการที่ไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากนโยบายจัดเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ของสหรัฐค่อนข้างมาก

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.