ไทยอันดับ 2 รองญี่ปุ่น ‘ท่องเที่ยวด้านอาหาร’ 3 เชฟดังแชร์มุมมองยกระดับวัตถุดิบพื้นบ้าน สู่อาหาร ‘ติดดาวมิชลิน’ ปักหมุดไทยหมุดหมายนทท.
“อาหารไทย” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแกร่งของไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “เส้นทางสู่ความเป็นเลิศของอาหารไทยผ่านคู่มือ มิชลิน ไกด์” ณ ห้องบอลรูม โรงแรม อนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ถนนราชดําริ เขตปทุมวัน ตอกย้ำภาพลักษณ์ด้านอาหารของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องหลังการเข้ามาของคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ในประเทศไทยครบ 8 ปี
โดยได้ ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. ร่วมเวทีเสวนา พร้อมด้วย เชฟไอซ์-ศุภักษร จงศิริ จากร้านศรณ์ รางวัลสามดาวมิชลิน, เชฟอู๋-สิทธิกร จันทป จากร้านอัคคี รางวัลหนึ่งดาวมิชลิน และ MICHELIN Guide Young Chef Award ปี 2568 และ เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ จากร้านซาหมวยแอนด์ซันส์ รางวัลบิบ กูร์มองด์ จังหวัดอุดรธานี
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า “ความร่วมมือกับมิชลินตลอด 8 ปีที่ผ่านมาได้ช่วยยกระดับวงการอาหารไทยและการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างเป็นรูปธรรม จากการเริ่มต้นแนะนำร้านอาหารในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2561 ซึ่งมีร้านอาหารในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ เพียง 98 ร้าน ปัจจุบันคู่มือเล่มล่าสุด
ปี 2568 มีจำนวนถึง 462 ร้าน ครอบคลุม 11 พื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค และที่สำคัญในปี 2568 นี้ ร้านศรณ์ โดยเชฟไอซ์ ศุภักษร จงศิริ ได้รับสามดาวมิชลินเป็นร้านแรกในประเทศไทย และเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกของโลก นับเป็นความภาคภูมิใจครั้งสำคัญของวงการอาหารไทย”
การเข้ามาของคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561ได้ส่งผลให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ของประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากผลการประเมินภาพลักษณ์การท่องเที่ยวด้านอาหารประจำปี 2567 โดยบริษัท เคเนติกส์ คอนซัลติ้ง จำกัด พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมองประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่มีภาพลักษณ์เป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหารที่โดดเด่น” ในระดับ 53% เพิ่มขึ้นจาก 44% ในปี 2566 ครองอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่น
ภายในงานเสวนา เชฟจากร้านอาหารที่ได้รับการแนะนำโดยคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ที่เข้าร่วมยังได้กล่าวถึงแนวทางของแต่ละร้านที่ล้วนยกระดับการใช้วัตถุดิบพื้นบ้านนำไปสู่อาหารติดดาวมิชลินระดับโลก
โดย เชฟไอซ์ จากร้านศรณ์ ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยภาคใต้ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการค้นพบวัตถุดิบท้องถิ่นภาคใต้ที่เริ่มสูญหายด้วยการเดินทางไปเลือกวัตถุดิบในพื้นที่ด้วยตัวเอง และนำมาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับเทคนิคปรุงอาหารที่ทันสมัย กลายเป็นเมนูสุดพิเศษเสิร์ฟในแบบอาหารใต้ไฟน์ไดนิ่ง ที่สามารถยกระดับอาหารไทยไปสู่ระดับโลก
ขณะที่ เชฟอู๋ จากร้านอัคคี มีความสนใจในการเฟ้นหาวัตถุดิบจากแหล่งของเกษตรกรโดยตรงในแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย จนกว่าจะรวบรวมวัตถุดิบได้ครบก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควร นำมาปรุงและปลุกชีวิตสูตรอาหารโบราณหยิบมาเล่าให้คนทั่วโลกได้เห็นวัฒนธรรมอาหารไทยในรูปแบบสำรับอาหารให้น่าสนใจ
เชฟหนุ่ม จากร้านซาหมวยแอนด์ซันส์ นำเสนอมุมมองอาหารอีสานที่มีมากกว่าส้มตำไก่ย่างตามที่คนส่วนใหญ่รู้จัก โดยจะนำวัตถุดิบจากตลาดพื้นบ้านตามฤดูกาล ฟาร์มออร์แกนิค มานำเสนอด้วยเทคนิคการปรุงที่ชูคุณสมบัติทางอาหารและยาของเครื่องปรุงแต่ละชนิด ด้วยรูปแบบอาหารอีสานสมัยใหม่ที่อร่อย สวยงาม และมีคุณค่าทางโภชนาการ
สำหรับภาพลักษณ์ด้านอาหารของไทยในระดับนานาชาติ พบว่าประเทศไทยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ นิตยสารชื่อดัง Time Out ได้จัดอันดับให้กรุงเทพฯเป็นเมืองอาหารที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลกประจำปี 2568 รองจากเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนาของสหรัฐอเมริกา โดย Time Out เผยว่ากรุงเทพฯมีอาหารคุณภาพหลากหลายรูปแบบทั้งอาหารไฟน์ไดนิ่งที่สร้างประสบการณ์อันน่าจดจำ และอาหารสตรีทฟู้ดราคาไม่ถึง 100 บาทที่ให้ประสบการณ์ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขึ้นชื่อเรื่องมรดกวัฒนธรรมด้านอาหารที่หลากหลายและโดดเด่นในหลายจังหวัดนอกเหนือจากกรุงเทพฯ โดยเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) ยังได้ขึ้นทะเบียนให้จังหวัดภูเก็ต (ปี 2558) และจังหวัดเพชรบุรี (ปี 2564) เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy)
โดยยกย่องวัตถุดิบท้องถิ่นอันล้ำค่าและสูตรอาหารแบบดั้งเดิมของชุมชน ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจท้องถิ่นจากอาหารได้กว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ตอกย้ำการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง