ตุลาการผู้แถลงคดีชี้ชัด ประธาน กสทช. ละเลยต่อหน้าที่โดยไม่ดำเนินการตามมติคณะกรรมการ เสนอให้ศาลมีคำสั่งเร่งรัดถอดถอนรักษาการเลขาธิการฯ และตั้งคณะกรรมการสอบวินัยภายใน 60 วัน เพื่อยืนยันหลักการบริหารจัดการภาครัฐตามกฎหมายและธรรมาภิบาล
วันที่ 3 พฤษภาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 4 ราย ได้แก่ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, รองศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต, รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และรองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1764/2566 โดยระบุว่าผู้ถูกฟ้องละเลยต่อหน้าที่ในการไม่ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล และไม่แต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการฯ ให้รักษาการแทน ตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566
ต่อมาในการไต่สวนครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตุลาการผู้แถลงคดีได้เสนอข้อวินิจฉัยต่อองค์คณะตุลาการศาลปกครองกลาง โดยแบ่งประเด็นสำคัญออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
ประเด็นที่หนึ่ง กรณีประธาน กสทช. ไม่ลงนามในคำสั่งที่เป็นไปตามมติคณะกรรมการ ทั้งในเรื่องการสอบสวนทางวินัยและการเปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยชัดแจ้ง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้กำหนดให้ กสทช. เป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินการโดยระบบคณะกรรมการร่วม ซึ่งประธานไม่มีอำนาจตัดสินใจเพียงลำพัง เว้นแต่ได้รับมอบหมายอย่างถูกต้องตามขั้นตอนทางกฎหมาย มติของคณะกรรมการจึงมีผลผูกพันสูงสุดในทางปฏิบัติ
ประเด็นที่สอง มติของที่ประชุมครั้งที่ 13/2566 วาระ 5.22 ซึ่งเสนอแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูมิศิษฐ์ ให้รักษาการแทนนั้น ยังไม่ถูกยกเลิกหรือเพิกถอน การที่ประธาน กสทช. ไม่ดำเนินการแม้มีหนังสือแจ้งเตือนถึงสองครั้ง จึงเป็นการละเมิดต่ออำนาจตามกฎหมาย และบ่อนทำลายหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการองค์กรสาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ
จากข้อวินิจฉัยดังกล่าว ตุลาการผู้แถลงคดีเสนอให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการ กสทช. ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่มีคำพิพากษา ได้แก่ ถอดถอนนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช.และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายไตรรัตน์ให้เป็นไปตามมติที่ประชุม
สำหรับกรณีการแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูมิศิษฐ์ ซึ่งได้เกษียณอายุราชการแล้ว เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีคำสั่งบังคับอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี แม้คำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดียังไม่ใช่คำพิพากษาสุดท้าย แต่ตามหลักการของกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง ศาลมีหน้าที่ต้องจัดพิมพ์และเผยแพร่ทั้งคำพิพากษาและความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีต่อสาธารณะ เพื่อสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นหลักประกันให้การใช้อำนาจรัฐอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างแท้จริง