สัตวแพทยสภา ชี้สัตว์เสี่ยงถึงแก่ชีวิต ถ้าวางยาสลบไร้เหตุจำเป็น ย้ำควรให้สัตวแพทย์ดำเนินการ
GH News May 04, 2025 11:07 AM

สัตวแพทยสภา เผยความอันตราย สัตว์เสี่ยงถึงแก่ชีวิต หากวางยาสลบไร้เหตุจำเป็น-ไม่รอบคอบ ย้ำควรกระทำโดย ‘สัตวแพทย์’

ยังเป็นประเด็นที่คนเฝ้าติดตาม สำหรับซีรีส์ “แม่หยัว” ออกอากาศทางช่อง ONE 31 ใน EP.5 มีการนำ “แมวดำ” มาประกอบฉาก กินน้ำที่ผสมยาพิษจนตาย ซึ่งผู้ชมได้ออกมาตั้งคำถามกับฉากดังกล่าวว่าขั้นตอนการถ่ายทำเป็นอย่างไร เข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์หรือไม่ ก่อนที่ สันต์ ศรีแก้วหล่อ ผู้กำกับไ ด้ออกมาชี้แจงว่ามีการวางยาสลบแมวจริง โดยมีเจ้าของแมวและผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลในทุกขั้นตอน แต่กระนั้นกระแสดราม่าก็ยังไม่หายไป กระทั่งเกิด #แบนแม่หยัว

ต่อมาช่อง ONE 31 ออกแถลงการณ์กรณีทำให้เกิดความไม่สบายใจของผู้ชม ยืนยันว่าแมวที่นำมาถ่ายทำมาจากบริษัทโมเดลลิ่งสัตว์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการนำสัตว์ร่วมถ่ายทำละครและภาพยนตร์โดยเฉพาะมากว่า 10 ปี และเป็นเจ้าของแมวตัวดังกล่าว รวมถึงเป็นผู้ดูแลแมวตลอดระยะเวลาการถ่ายทำในทุกขั้นตอน จากนี้จะระมัดระวังไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

เรื่องราวที่เกิดขึ้น สัตวแพทยสภา ได้รับทราบข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ล่าสุด คืนวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สัตวแพทยสภา เผยแพร่บทความ อันตรายและข้อควรระวังในการวางยาสลบสัตว์ โดย ผศ.สัตวแพทย์หญิง ดร.สิริรัตน์ นิยม อนุมัติบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ สาขาศัลยศาสตร์ อนุกรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญฯ สาขาศัลยศาสตร์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

การวางยาสลบในทางสัตวแพทย์เป็นกระบวนการที่ทำให้สัตว์เกิดสภาวะหมดความรู้สึกของร่างกาย การตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลงหรือหมดไป เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหัตถการต่อสัตว์ในการป้องกัน การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคที่สัตวแพทย์ไม่สามารถกระทำในขณะที่สัตว์รู้สึกตัวได้ หรือนำมาใช้ในการจับบังคับสัตว์ที่ควบคุมได้ยากเพื่อการเคลื่อนย้ายสัตว์ เป็นต้น โดยการให้ยาสลบนั้นมีสิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลายประการ เนื่องจากฤทธิ์ของยาที่นอกเหนือไปจากการทำให้สัตว์หมดสติแล้วยังมีผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย ทั้งระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบต่อมไร้ท่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลข้างเคียงต่อระบบบไหลเวียนโลหิต และระบบทางเดินหายใจที่ถูกกดการทำงานมากขึ้น เมื่อระดับการสลบลึกขึ้น ผลข้างเคียงจะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของยาสลบและยานำสลบที่ใช้

การประเมินสุขภาพสัตว์อย่างละเอียดรอบคอบครบถ้วนสมบูรณ์นั้น จึงเป็นสิ่งที่สัตวแพทย์จะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอ ในการนำมาวางแผนเตรียมตัว ปรับสภาพร่างกายสัตว์ให้มีความพร้อมต่อการรับการวางยาสลบ และเลือกใช้ชนิดยาในการวางยาได้อย่างเหมาะสม ลดโอกาสของการเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้

นอกจากนี้ พึงตระหนักว่าภาวะแทรกซ้อนในการวางยาสลบสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทุกช่วงเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นให้ยานำสลบกลุ่ม premedication ขณะเหนี่ยวนำการสลบ ขณะคงภาวะสลบ ไปจนกระทั่งระยะพักฟื้น หรือขณะสัตว์ตื่นจากการสลบ ดังนั้น การวางยาสลบสัตว์จึงควรดำเนินการ หรือควบคุมการดำเนินการอย่างใกล้ชิดโดยสัตวแพทย์ และควรมีการวางแผนให้มีอุปกรณ์และผู้เฝ้าระวังติดตามสัญญาณชีพของสัตว์อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา มีการปรับระดับความลึกของการสลบให้เหมาะสม และมีการเตรียมพร้อมทั้งทางด้านอุปกรณ์ สารน้ำ และเวชภัณฑ์ฉุกเฉิน ที่ทำให้สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาแทรกช้อนเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที

การกระทำที่ไม่รอบคอบ หรือไม่มีการวางแผนเตรียมความพร้อมอย่างถูกต้อง หรือการวางยาสลบในสัตว์โดยไม่มีเหตุจำเป็น อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงให้สัตว์ได้รับอันตรายจนถึงเสียชีวิตได้

ประกาศ ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2567

โดยคณะผู้บริหารวิทยาลัยวิชาชีพการสัตวแพทย์ชำนาญการแห่งประเทศไทย วาระปี พ.ศ.2566-2568

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.