นโยบาย ขอไปที
รัฐสภาปิดสมัยประชุมปีที่ 2 ไปแล้วตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ช่วยให้การเมืองเรื่องร้อนจากกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ของรัฐบาลค่อยคลี่คลายลง หลังจากนายไชยชนก ชิดชอบ ส.ส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ประกาศกลางสภาว่า “ไม่มีวันเห็นด้วยกับกาสิโน”
ความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลจะปะทุขึ้นอีกวันไหน จะเกิดอะไรขึ้นก่อนสภาเปิดประชุมสมัยวิสามัญปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569
หรือทู่ซี้ลากยาวกันไปจนสมัยประชุมสามัญเปิดขึ้นอีกเป็นปีที่ 3 ครั้งที่ 1 วันที่ 3 กรกฎาคม ถึง 30 ตุลาคม 2568 ต้องรอติดตามต่อไป
แต่ประเด็นที่ยังคงเป็นหนามตำใจคาอยู่ ก็คือท่าทีของแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ออกอาการฉุนเฉียว โกรธเกรี้ยวเคี้ยวฟันทันทีที่การอภิปรายจบลง
นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตประธานวิปพรรครัฐบาล ร่ายกลอน
ไม่อยากร่วม รัฐบาล ก็ออกไป
ภูมิใจถอก ภูมิใจไทย รีบไสหัว
อย่าเป็นเข้ขวางคลองอย่าอนอัว
อย่ายกตัว ข่มคนอื่น มันคลื่นไส้… ??? !!!!…
มวยรุ่นใหญ่ออกมาเล่นบทบู๊ เอาคืนทันควัน เสยปลายคางมวยรุ่นลูกรุ่นหลาน อะไรจะขนาดนั้น
เพียงแค่เรื่องของความเห็นต่อการดำเนินนโยบายรับมือการขึ้นภาษีของสหรัฐ กับปัญหาวิกฤตการณ์ ภัยพิบัติ แผ่นดินไหว ตึกถล่ม น้ำท่วม แตกต่างกัน
นายไชยชนกพยายามชี้ให้เห็นว่าประเด็นปัญหาภัยพิบัติจากสภาวะโลกร้อน ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเป็นภัยคุกคามใหญ่นับวันจะรุนแรงขยายวงกว้างมากขึ้น ส่งผลกระทบสร้างความพินาศล่มจมไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เป็นเรื่องน่าวิตกเป็นห่วงมากกว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมกันรับมือหาทางป้องกันตั้งแต่ตอนนี้ ขณะที่การต่อกรกับสหรัฐไทยมีอำนาจต่อรองน้อยกว่ามาก
มองต่างมุม มองคนละมุม ก็แค่นั้น
ฟังโดยละเอียด ไม่มีตอนไหนที่บอกว่าไม่เอาเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่ไม่มีกาสิโน แต่ย้ำว่า ไม่เอากาสิโน
สิ่งที่ได้รับ สะท้อนกลับ ด้วยท่าทีที่แสดงกับศัตรู มากกว่าความเป็นมิตรและพรรคพันธมิตร
ไม่พยายามที่จะเข้าใจความคิด จิตใจของคนรุ่นใหม่
ไม่คิดถึง ความจริงใจ ความหวังดี ความเป็นห่วง ชาติและประชาชน เช่นเดียวกัน
การเมืองไร้ความเมตตา ปรานี ต้องบดขยี้ ขับไล่ ไสส่ง เข่นฆ่ากันให้ตายไปข้าง
เพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ตัวเดียว ความจริงใจจึงไร้ค่า ไร้ความหมาย
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พยายามอธิบายชี้แจง ให้เกิดความเข้าใจ
“กฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่ใช่กฎหมายกาสิโน เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ใช่เปิดให้นักพนันเข้ามา แต่เป็นเรื่องของการพาครอบครัวมาเที่ยว เพราะมีทุกอย่างในนั้นพร้อม ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารชื่อดัง ห้างสรรพสินค้า เพราะฉะนั้นอย่าเอามาเป็นประเด็นทางการเมือง อย่าบิดเบือนเป็นเรื่องกาสิโน”
ส่วนท่าทีต่อพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรค พรรคประชาชาติที่ออกแถลงการณ์ในฐานะพรรคของคนมุสลิมไม่สามารถรับเรื่องแบบนี้ได้ นายภูมิธรรมบอกว่า “ก็เป็นกระบวนการที่แต่ละพรรคต้องไปคุยกัน”
“อย่าลืมว่าที่มาตกลงร่วมรัฐบาลกัน ตอนที่ทำนโยบายนี้ก็นั่งทำด้วยกัน ไม่ใช่เราทำคนเดียว เมื่อร่วมทำด้วยกัน แถลงต่อสภาด้วยกัน ยกมือด้วยกันแล้ว ถึงตอนนี้ถ้าจะมีเป็นอย่างอื่นก็คงต้องเข้าไปทำความเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเคยพูด เคยทำไว้”
ครับ ผมกลับไปเปิดนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาวันที่ 12 กันยายน 2567 พบว่าเขียนไว้จริง อยู่ในกลุ่มนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที 7 นโยบาย
นโยบายที่เจ็ด รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1,892 ล้านล้านบาทในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว
ไม่มีข้อความใดระบุถึง กาสิโน แม้แต่คำเดียว
ปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกรณีนี้ จึงสะท้อนถึงปัญหากระบวนการจัดทำนโยบายรัฐบาลที่หละหลวมอย่างชัดเจน
คุยกัน อธิบายความถึงเนื้อในของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์กันอีท่าไหน ระหว่างมีกาสิโนกับไม่มีกาสิโนอยู่ในนั้นด้วย เอาอย่างไรแน่ รวมทั้งการดำเนินโครงการต่างกันอย่างไร ผลดี ผลเสีย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแค่ไหน
หรือแค่พูดกันกว้างๆ ขอให้ได้เป็นรัฐบาลร่วมกันสำเร็จก่อน เรื่องรายละเอียดค่อยว่ากันทีหลัง
กระบวนการกำหนดนโยบายทำนองนี้ จึงเกิดปัญหาตามมาภายหลัง เมื่อถึงขั้นตอนการเสนอกฎหมายและการปฏิบัติต่างๆ
ไม่เฉพาะแต่เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เรื่องเดียว เรื่องอื่นๆ ก็เคยเกิดปัญหาเช่นเดียวกันนี้มาแล้วหลายต่อหลายนโยบาย
ตัวอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ นโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระจายถึงระดับไหน กระจายอย่างไร ไม่เคยพูดกันให้ชัดเจน สุดท้ายล้มไม่เป็นท่า
อย่างไรก็ตาม ความคิดและท่าทีของนักการเมืองรุ่นปู่ รุ่นพ่อ รุ่นลุง รุ่นป้าที่แสดงต่อนักการเมืองรุ่นหลังก็เป็นบทเรียนของคนรุ่นใหม่ ต้องเก็บไปคิด เป็นประสบการณ์อันมีค่า ในการดำเนินชีวิตทางการเมืองต่อไปเช่นกัน