อังคณา บอกทุกคนข้องใจ ‘แพทองธาร-พ่อนายกฯ’ ใครมีอำนาจแก้ปัญหาชายแดนใต้ตัวจริง
GH News May 04, 2025 09:06 PM

สิ่งที่ทุกคนอยากฟังในวันนี้ คือ ใครที่มีอำนาจในการแก้ปัญหาที่แท้จริง นายกแพ หรือ พ่อนายก หรือ รมต. กลาโหม และอะไรคือนโยบายในการแก้ปัญหาความขัดแย้งใน จชต. ของรัฐบาลแพทองธาร ทั้งปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด

4 พ.ค.2568-นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก Angkhana Neelapaijit ระบุว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเหตุการณ์ความรุนแรงใน จชต. โดยการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ได้สร้างความสะเทือนใจให้คนทั่งประเทศอย่างมาก โดยเหยื่อมีทั้งผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ จนทำให้หลายองค์กร/ หน่วยงานออกมาประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หากถามว่าการประณามจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นไหม ส่วนตัวเห็นว่าผู้ก่อเหตุ หรือ BRN ไม่น่าจะสนใจคำประณามมากนัก และน่าจะยังคงใช้ความรุนแรงเพื่อกดดันรัฐบาลไทยต่อไป ส่วนท่าทีของรัฐบาลไทยก็ต้องยอมรับว่ามีความคลุมเครืออย่างมาก เพราะในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ก็ไม่ได้กล่าวถึง หรือให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา จชต. เท่าที่ควร ไม่ตอบคำถาม และไม่ให้คำมั่นใด ๆ ตอนนี้เท่าที่ดูคนที่พยายามจะลงมาแก้ปัญหา จชต. จึงน่าจะเป็น “พ่อนายก” มากกว่าตัว “นายก”

ในส่วนคุณทักษิณก็เคยชินกับการใช้เงิน และใช้อำนาจ และมองปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องเล็ก เพราะอาจมั่นใจว่ามีพรรคนอมินีอย่างพรรคประชาชาติเป็นฐานเสียงสำคัญ จึงพูดออกมาอย่างมั่นใจว่า ปัญหาความรุนแรง “น่าจะจบภายในปีนี้” หรือ “สบตาคนรุ่นใหม่รู้สึกเป็นมิตรมากขึ้น” โดยคุณทักษิณอาจลืมคิดไปว่าคนที่มาต้อนรับ “พ่อนายก” หรือ “นายกตัวจริง” ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนทั้งหมด และอาจเพราะความเชื่อว่าตัวเองสามารถแก้ปัญหาได้ คุณทักษิณจึงไม่สนใจกับการพูดคุยหรือ “การเจรจาสันติภาพ” ที่ต้องเริ่มจากการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust Building) ยอมรับความผิดพลาดในอดีต สร้างคำมั่นสัญญาใหม่ และแสวงหาทางออกร่วมกันพบพื้นฐานการเคารพในความต้องการของทุกฝ่าย

ที่ผ่านมาหากจำกันได้ กระบวนการพูดคุยที่เริ่มต้นในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พร้อม ๆ กับการชดใช้เยียวยาด้วยตัวเงิน และการเยียวยาทางจิตใจแก่ผู้เสียหาย เหยื่อ และญาติ ๆ ทุกคน ถึงจุดนี้คุณทักษิณอาจคิดว่าน่าจะเพียงพอแล้ว จึงไม่เห็นความสำคัญของการพูดคุยกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง ที่ต้องเริ่มจากการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมถึงการพูดคุยในสารัตถะ และสร้างคำมั่นในการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานความเคารพซึ่งกันและกัน

.

ความรุนแรงที่มากขึ้นในวันนี้ นอกจากการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมของ BRN โดยใช้ความโหดร้ายรุนแรงต่อพลเรือนกลุ่มเปราะบางโดยปราศจากเมตตา  และความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก คือ การขาดเจตจำนงทางการเมืองในการแก้ปัญหา จชต. เพราะวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า รัฐบาลมีนโยบายอะไรในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง เราจึงได้ยินการตั้งคำถามแบบโยนหินถามทางว่า “จะเอาแบบเขตปกครองพิเศษซินเจียงไหม” ทั้งที่ตามรายงานสหประชาชาติ ซินเจียงเป็นพื้นที่ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจำกัดสิทธิเสรีภาพชนกลุ่มน้อยทางศาสนามากที่สุด

นอกจากนั้น การที่รองนายกภูมิธรรมออกมาประกาศว่าจะคุยกับเฉพาะ “ตัวจริง” ที่สามารถสั่งการได้เท่านั้น ทั้งที่รู้ว่า BRN เป็นองค์กรลับ และ BRN เองก็เคยเรียกร้องให้มีภูมิคุ้มกันหากจะมีการเปิดเผยตัว “ผู้นำ” ในระดับท้องถิ่น แต่ท่าทีรัฐบาลไทย โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงน่าจะไม่เอาด้วย และพยายามจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาแทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลพลเรือน สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือมี สว. กลุ่มหนึ่งออกมาเรียกร้องให้ยกระดับกลุ่ม BRN เป็นขบวนการก่อการร้าย ซึ่งเหมือนจะยุยงให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงในการปราบปรามทั้งที่ปัจจุบันไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน เพราะในทางกลับกัน อีกฝ่ายอาจตอบโต้โดยการก่อวินาศกรรมที่จะกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง เผลอ ๆ อาจต้องมีกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติเข้ามารักษาการในพื้นที่ และปัญหาอาจจบลงแบบติมอร์ เลสเต (ซึ่งก็คงถูกใจ BRN)

วันนี้ถึงคุณทักษิณจะอยากแสดงบทบาทในการแก้ปัญหา แต่ปัญหาความรุนแรงใน จชต. ไม่ใช่พื้นที่ให้ใครมาทดลองภูมิปัญญา ทั้งนี้คุณทักษิณต้องไม่ลืมว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงใน จชต. ที่เริ่มต้นในสมัยคุณทักษิณ จนวันนี้ยังไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้แม้แต่คนเดียว เพราะการแก้ปัญหา “การลอยนวลพื้นผิด – Impunity” ของคุณทักษิณ ก็คือการปล่อยให้ทุกคดีหมดอายุความโดยไม่ต้องมีใครรับโทษ ซึ่งก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของคุณทักษิณอาจไม่มีเหลืออยู่อีก

สิ่งที่ทุกคนอยากฟังในวันนี้ คือ ใครที่มีอำนาจในการแก้ปัญหาที่แท้จริง นายกแพ หรือ พ่อนายก หรือ รมต. กลาโหม และอะไรคือนโยบายในการแก้ปัญหาความขัดแย้งใน จชต. ของรัฐบาลแพทองธาร ทั้งปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.