นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมฯ แนะแก้ภาวะวิกฤต ‘ครูหนี้เกินตัว’ จัดทำระบบเตือน ตรวจจับกลุ่มเสี่ยง ชงตั้งศูนย์เคลียร์แก้ล้มละลาย
มติชน รายงานว่า นายณรินทร์ ชำนาญดู นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การปฏิบัติหน้าที่ราชการ และภาพลักษณ์ของวิชาชีพครูอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่ข้าราชการครูมีหนี้สินเกินความสามารถในการชำระ จนอาจถูกดำเนินคดีและถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย ซึ่งถือเป็นภาวะวิกฤต ที่ส่งผลทั้งทางกฎหมายและสถานภาพทางราชการ
ดังนั้น การรู้เท่าทันและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะล้มละลายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ข้าราชการครูควรตระหนักและดำเนินการอย่างมีแบบแผน สาเหตุที่ทำให้ข้าราชการครูถูกฟ้องล้มละลาย เนื่องจากมีการกู้เงินเกินกำลังชำระ โดยไม่มีแผนการจัดการหนี้ที่เหมาะสม การค้ำประกันหนี้ให้ผู้อื่นโดยไม่ประเมินความเสี่ยง ขาดวินัยทางการเงิน เช่น รูดบัตรเครดิตต่อเนื่อง ผ่อนสินค้าฟุ่มเฟือย ขาดการวางแผนรายรับ-รายจ่าย หรือไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน ขาดความรู้เรื่องกฎหมายหนี้สิน และไม่เข้าใจผลของการผิดนัดชำระหนี้
นายณรินทร์ กล่าวต่อว่า วิธีการป้องกันไม่ให้ถูกฟ้องล้มละลาย อาทิ วางแผนการเงินอย่างรอบคอบ กำหนดงบประมาณรายเดือน แยกรายจ่ายจำเป็นกับรายจ่ายฟุ่มเฟือย สร้างนิสัยออมเงินก่อนใช้ และมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือนของรายจ่ายประจำ หลีกเลี่ยงการใช้สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรเครดิต หรือสินเชื่อนอกระบบ , จำกัดภาระหนี้ไม่ให้เกิน 40% ของรายได้
หากหนี้รวมต่อเดือนเกิน 40% ของรายได้สุทธิ ควรปรับแผนการใช้จ่ายหรือเจรจาผ่อนชำระใหม่ทันที หากจำเป็นต้องกู้ ควรเลือกสถาบันการเงินของรัฐที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือ ธ.ออมสิน ,ไม่ค้ำประกันหนี้โดยขาดความระมัดระวัง การค้ำประกันแม้เพียงครั้งเดียว อาจทำให้ต้องรับผิดแทนหากลูกหนี้ผิดสัญญา
พึงหลีกเลี่ยงการค้ำหนี้ที่มีจำนวนมาก หรือไม่มั่นใจในความสามารถของผู้กู้ หากเริ่มมีปัญหาการเงิน ควรปรึกษาเร็วที่สุด รีบเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ หยุดดอกเบี้ย หรือยืดระยะเวลาชำระ ขอคำปรึกษาจาก หน่วยงานช่วยเหลือ เช่น สำนักงานเขตพื้นที่ฯ, สหกรณ์ออมทรัพย์, ธนาคารเพื่อการศึกษา, หรือศูนย์ไกล่เกลี่ยหนี้ของกระทรวงยุติธรรม
“ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับหน่วยงานต้นสังกัดควรจัดระบบเตือนภัย Early Warning System เพื่อตรวจจับครูที่เสี่ยงเป็นหนี้สินเกินตัว จัดอบรมความรู้ด้านการเงินเชิงบังคับ สำหรับครูตั้งแต่บรรจุใหม่ ส่งเสริมบทบาทของสหกรณ์ครู ให้เป็นศูนย์ช่วยเหลือด้านการเงินและการเจรจาหนี้ ประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกรมบังคับคดี
เพื่อวางแนวป้องกันปัญหาล้มละลายเชิงระบบ โดยการป้องกันไม่ให้ข้าราชการครูถูกฟ้องล้มละลาย ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นประเด็นสำคัญต่อความมั่นคงในชีวิตราชการ คุณภาพการจัดการเรียนการสอน และภาพลักษณ์ของระบบการศึกษาโดยรวม ข้าราชการครูจึงควรตระหนักถึงการบริหารการเงินอย่างมีวินัย และควรได้รับการสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานต้นสังกัดและภาคีที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ” นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมฯ กล่าว