‘ต้องรวมตัวต่อกร’ ชี้ภาพรวมโลก ‘ปีนี้หนักสุด’ นักข่าวดับ124 – ทั้งภูมิภาคยังเพิกเฉย ‘เมียนมา’
GH News May 09, 2025 10:45 AM

องค์กรสิทธิ ชี้ ‘ต้องรวมตัวต่อต้าน’ รีแคปสถานการณ์โลก ‘ปีนี้หนักสุด’ นักข่าวดับ 124 – ห่วงทั้งภูมิภาคยังเพิกเฉยปม ‘เมียนมา’

เมื่อวันที่ 29 เมษายน เวลา 13.00 น. ที่ห้อง Salon B ชั้น 2 โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานแถลง “เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2567/68 ภายใต้ชื่อ ”เสียงและความจริงมนุษย์”

โดยรายงานฉบับดังกล่าว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รวบรวมเรื่องราวรอบโลกในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นปีที่โลกต้องเผชิญ ‘วิกฤตซ้อนวิกฤต’ ทั้งสงครามฉนวนกาซา การรัฐประหารเมียนมา การสังหารนักปกป้องสิทธิ การเซ็นเซอร์และจำกัดเสรีภาพที่ถูกพรากไปในลาว เวียดนาม กัมพูชา

สำหรับ ประเทศไทย ใจความของรายงานดังกล่าว บ่งชี้ว่ามีหลายประเด็นที่น่าห่วงใย อาทิ สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน การสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การลอยนวลพ้นผิด การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย สิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย รวมถึงสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง เป็นต้น

ในตอนหนึ่ง น.ส.พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิในชีวิต ที่ถูกพรากไปในกาซา เมียนมา และชายแดนใต้

โดยชี้ว่าปี 2567 เป็นปีที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเราทุกคน ต้องเผชิญกับวิกฤตรอบด้าน ยังเกิดการพังทลายของระบบระหว่างประเทศ หลังจากที่เราออกแบบระเบียบโลกร่วมกัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อสร้างสันติสุข แต่จะเห็นว่ามันถูกทำลายลง

“องค์การสหประชาชาติ (UN) ก็ถูกทำให้อ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วง 100 วันของการทำงาน ของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ตาม การโจมตีอย่างไร้ความรับผิดชอบ ในการขจัดการเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุครัฐบาลทรัมป์ แต่ฝังรากมานานแล้ว”

จากนั้น น.ส.พุทธณี กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมระดับโลกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเล็งเห็นว่ามี 5 สถานการณ์หลัก

คือ 1.การใช้อาวุธเข้าห้ำหั่น 2.การปราบปรามผู้เห็นต่าง 3.ความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) 4.การเลือกปฏิบัติ 5.เทคโนโลยีและสิทธิมนุษยชน

น.ส.พุทธณี กล่าวว่าในรายละเอียดประเด็นแรก

1.การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการใช้อาวุธ เราพบว่ารัฐบาลมหาอำนาจ ยังคงขัดขวางความพยายามในการยุติอาชญากรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ จากที่ต้องป้องกัน กลับกลายเป็นกลไกที่ส่งเสริมความขัดแย้ง

ในส่วนประเด็นกาซา พบว่ามีการก่ออาชญากรรมร้ายแรงในลักษณะ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ‘ มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน และมีการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ โดยในสหรัฐฯ และอังกฤษ รวมถึงประเทศสมาชิก EU บางประเทศ ต่างสนับสนุนอิสราเอล จะใช้สิทธิยับยั้งในสหประชาชาติ

ในรัสเซีย ยังพบการโจมตียูเครน อย่างต่อเนื่อง
รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในซูดาน ส่งผลให้พลเรือนนับล้านคน ได้รับผลกระทบ แต่กลไกช่วยเหลือระหว่างประเทศกลับล้มเหลวในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

น.ส.พุทธณี กางกั้น

นอกจากนั้น กลไกการวีโต้ ของ 5 ประเทศหลัก ยังทำให้เกิดอุปสรรคในการสร้างสันติภาพของโลก

“เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลทั้งหลาย ควรร่วมกัน ปฏิรูปฯ คณะมนตรีความั่นคงแห่งประชาชาติ เพื่อให้สมาชิกถาวรไม่สามารถใช้อำนาจวีโต้ของตนเอง เพื่อปิดกั้นการดำเนินงานที่มีเป้าหมายในการยุติและแก้ไขอาชญากรรมที่โหดร้าย ” น.ส.พุทธณีชี้

ประเด็นที่ 2. การปราบปรามผู้เห็นต่าง ที่ออกไปใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และชุมนุมอย่างสงบ พบว่ายังมีหลายประเทศใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม สุดโต่ง เพื่อลงโทษนักกิจกรรม ถึงการสั่งระงับการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมในหลายประเทศ

“เราพบว่าปีที่ผ่านมามีผู้สื่อข่าวถูกฆ่า 124 คน ถูกสังหารจากการนำเสนอข่าวสาร และ 2 ใน 3 นั้น ทำงานในพื้นที่ปาเลสไตน์ รายงายเหตุการณ์ในฉนวนกาซา

รวมถึงมีกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคม มากกว่า 21 ประเทศทั่วโลก” น.ส.พุทธณีเผย

ประเด็นที่ 3.ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม Climate Justice การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยพิบัติในที่ต่างๆ ทั่วโลก ที่ส่งผลให้เกิดการอพยพหลายล้านคน ประเทศที่มีรายได้น้อย เผชิญหนี้สาธารณะ และค่าใช้จ่ายที่สูงขึัน โดยประเทศที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด กลับให้ความช่วยเหลือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ มีความพยายามของภาคประชาสังคม รวมตัว ในการฟ้องคดีด้านสิ่งแวดล้อม เป็นจุดที่นับว่าก้าวหน้า

ประเด็นที่ 3.การเลือกปฏิบัติ พบว่าผู้ลี้ภัย อพยพ ชนเผ่าพื้นเมือง ยังคงถูกผลักดันและเลือกปฏิบัติ เช่นในปากีสถาน สหรัฐฯ เผ่าพื้นเมืองถูกละเมิดสิทธิที่ดิน ผู้มีความหลากหลายทางเพศยังต้องเผชิญกับการถูกกดขี่ในหลายประเทศ แม้มีความก้าวหน้าในหลายประเทศ เช่น ไทย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเช็ก เป็นต้น

ประเด็นที่ 4 สถานการณ์เทคโนโลยีกับสิทธิมนุษยชน เราพบว่าในหลายประเทศยังมีการใช้ สปายแวร์โดยไม่ชอบ ยังไม่มีกฎหมายกำกับการละเมิด โดยพบว่าเป็นเนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง มีกลไกการสร้างความเกลียดชังโดยใช้โซเชียลมีเดีย บางประเทศในยุโรปมีความก้าวหน้าในเรื่องกฎหมายดิจิทัล แต่ก็ยังมีช่องว่างอยู่

โดยในตอนหนึ่ง ได้หยิบยกคำกล่าวของ แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ว่า “สิ่งที่สำคัญคือเราต้องรวมตัวอย่างเป็นระบบเพื่อต่อต้านการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม เพราะเป็นแนวทางเดียวที่มีอยู่ที่จะสามารถทำได้ เมื่อรัฐไม่สามารถปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ จึงต้องร่วมกันยืนหยัดขึ้นมา”

จากนั้น น.ส.พุทธณี ยังกล่าวถึงสถานการณ์เมียนมาด้วยว่า 4 ปี หลังรัฐประหาร เราพบการละเมิดสิทธิยังรุนขึ้นต่อเนื่อง ช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา อัยการออกหมายจับ มิน อ่อง หล่าย ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่ยังพบการโจมตีทางอากาศที่มากขึ้นเท่าตัว ในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นวิกฤตมนุษยธรรมอย่างร้ายแรงที่สุดในภูมิภาคและในโลกด้วย โดยการใช้อาวุธร้ายแรงกับผู้พลัดถิ่น ชนกลุ่มน้อยอย่างรุนแรง การโจมตีทางอากาศ มุ่งไปที่โครงสร้างพื้นฐาน โบสถ์ มัสยิด โรงพยาบาล เป็นต้น

นอกจากนี้ ‘กองทัพเมียนมา’ ยังก่ออาชญากรรมอย่างเป็นระบบ มีรายงานการสังหารหมู่ เผาทำลายหมู่บ้าน

ชาวโรฮิงญา ยังถูกผลักออกนอกประเทศ และควบคุมคัวในค่าย อย่างไร้มนุษยธรรม
ซึ่งยังคงมีการจัดส่งเชื้อเพลิงในการโตมตีทางอากาศ ผ่านทางท่าอากาศยาน และมีแบบแผนการจัดส่งอาวุธที่ซับซ้อนขึ้น เช่น ผ่านเวียดนาม จีน เป็นต้น

“อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าประเทศในภูมิภาค ยังมีบทบาทที่น่ากังวลต่อเมียนมา ในการสร้างสันติภาพ แต่ยังเพิกเฉยต่ออาชญากรรมในเมียนมา ปล่อยให้การลอยนวลพ้นผิด ยังฝังรากลึก”

“เราขอเรียกร้องให้ทุกประเทศ ยืนหยัดสิทธิมนุษยชน เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทั้งภูมิภาค เรายังเชื่อว่าผู้คนที่ยืนหยัดทั่วโลก ยังมีพลังมากพอที่จะต่อกร สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่รุกลามทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้” น.ส.พุทธณีกล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.