จากสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มีนาคม 2568 พบว่า มีการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 5.19 แสนคดี หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 5.07 หมื่นล้านบาท ถือเป็นความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน และปัจจุบันยังคงเกิดการหลอกลวง โดย “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ผ่านการโทรฯ ส่งข้อความสั้น (SMS) รวมถึงข้อความแนบลิ้งก์ หรือ ฟิชชิง (Phishing) อยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการที่มิจฉาชีพได้พัฒนาการก่อเหตุโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปอย่างรวดเร็ว
เพื่อป้องกันความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าสูงขึ้น กระทรวงดีอี สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวม 16 หน่วยงาน ได้ร่วมหารือแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมเห็นชอบการดำเนินงาน โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง “DE-fence platform” เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง รวมทั้ง ส่ง SMS หลอกลวง
ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) กล่าวว่า BDE ในฐานะที่มีบทบาทในการเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ในโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง DE-fence platform ครั้งนี้ มีดำเนินงานนับตั้งแต่มีมติเห็นชอบในการดำเนินงาน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เป็นการบูรณาการการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคม กสทช. ผู้บังคับใช้กฎหมาย อาทิ ตำรวจ และ กระทรวงดีอี เพื่อสอดรับกับนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวง
โดยเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชน ช่วยในการคัดกรองสายเรียกเข้า และข้อความสั้น ของคนร้าย รวมถึงช่วยยืนยันเบอร์โทรจากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือ สถาบันการเงิน เป็นต้น ภายใต้ชื่อ “DE-fence platform” (แพลตฟอร์มกันลวง) ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการใช้งานป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันพร้อมให้บริการ (BETA version หรือระยะทดลอง) ในรูปแบบ Mobile Application “DE-fence” นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS (apple store) และ Android (google play store)
สำหรับ DE-fence platform จะใช้หลักการในการแบ่งสายโทรเข้า รวมถึง SMS ที่ได้รับ เป็น 3 กลุ่ม คือ
และ 3. กลุ่มชื่อลงทะเบียน เป็นหมายเลขหน่วยงานที่ลงทะเบียนถูกต้อง และได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นหมายเลขของหน่วยงานรัฐ หมายเลขโทร 3 – 4 หลัก เช่น 1111
ในส่วนของการแจ้งเตือนการโทรฯ เข้า แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ
กลุ่มที่ 1 : อันตราย มิจฉาชีพ
กลุ่มที่ 2 : ระวัง เบอร์ต้องสงสัย
กลุ่มที่ 3 : ชื่อลงทะเบียน
อย่างไรก็ตามการพัฒนา DE-fence platform ในระยะแรกจะเน้นที่เบอร์โทร และ SMS โดยเฉพาะ กลุ่มชื่อลงทะเบียน ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ ที่คนร้ายมักใช้ในการหลอกลวงประชาชนก่อน และในระยะต่อไปจะขยาย กลุ่มชื่อลงทะเบียน ให้ครอบคลุมหน่วยงานและบริษัทมากขึ้น พร้อมทั้งขยายการป้องกันและแจ้งเตือน
ขณะนี้ DE fence อยู่ระหว่างการทดสอบความปลอดภัยและสามารถรองรับผู้ใช้จำนวนมาก เนื่องจากประเมินว่าจะมีผู้ใช้ประจำ (active users) กว่า 1 ล้านคน
“จุดเด่น ของ DE-fence platform คือ การเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลเลขหมายที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของตำรวจ ปปง. ศูนย์ AOC1441 และกระทรวงดีอี เพื่อใช้ในการเตือนประชาชน เชื่อมั่นว่าจะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนได้” ดร.เวทางค์ กล่าวย้ำ