วัฒนธรรม ‘อาหารไทย’ ซอฟต์พาวเวอร์ ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’
นับเนื่องตั้งแต่วิทยาลัยดุสิตธานีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 เอกลักษณ์หนึ่งซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดของวิทยาลัยดุสิตธานีก็คือเรื่อง “ความเป็นไทย” ไม่ว่าจะด้านทักษะการให้บริการหรือศิลปะการประกอบอาหาร โดยนับเป็นการสืบทอดจิตวิญญาณด้านความเป็นไทยมาจากองค์กรแม่ “โรงแรมดุสิตธานี” โรงแรมระดับสากลแห่งแรกของไทยที่มีเจ้าของเป็นคนไทย ซึ่งบ่มเพาะและปลูกฝังความเป็นเลิศในด้านนี้มาจากท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้ง ส่งผ่านพันธุกรรมดังกล่าวต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงทายาทรุ่นที่สามแล้วในปัจจุบัน
ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาในเครือวิทยาลัยดุสิตธานี เล็งเห็นว่า ปัจจุบันการปลูกฝังคุณค่าทางวัฒนธรรมไทยและการทำนุบำรุงเอกลักษณ์ไทยมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ ทักษะ และจิตวิญญาณให้แก่เยาวชน จึงได้จัดงาน “Thai Culture Excellence: The Spirit of Dusit Thani College ความเป็นเลิศวัฒนธรรมไทย วิทยาลัยดุสิตธานี” นำเสนอความเป็นเลิศด้าน “ความเป็นไทย” ผ่านเมนูอาหาร องค์ความรู้ และกิจกรรมน่าสนใจมากมาย พร้อมเปิดตัวหนังสือ “ตำรับอาหารไทยชาววัง” ซึ่งผ่านการค้นคว้าวิจัยโดยคณาจารย์วิทยาลัยดุสิตธานี
ภายในงานมีเสวนาเรื่อง “รากวัฒนธรรมอาหารไทย กับการขับเคลื่อนอาหารผ่าน Thai Soft Power” โดยได้ เชฟชุมพล แจ้งไพร ในฐานะเชฟระดับปรมาจารย์ของไทยมาขึ้นเวทีแสดงทรรศนะร่วมกับ เชฟบิ๊ก-ภูริพรรษ ใจวีระวัฒนากุล ศิษย์เก่าวิทยาลัยดุสิตธานีที่กำลังเป็นเชฟรุ่นใหม่ไฟแรง และ ดร.ณัฐนรี สมิตร อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาโท วิทยาลัยดุสิตธานี ที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางการใช้อาหารไทยเป็น Soft Power ผลักดันให้ประเทศเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติได้จริง
เชฟชุมพล แจ้งไพร กล่าวถึงรากเหง้าอาหารไทยว่า อาหารไทยคือซอฟต์พาวเวอร์ของจริงและของแท้ แต่สิ่งที่จะวางต่อไป คือการทำยังไงให้อาหารไทยที่ดีอยู่แล้ว ดีตลอดไป ซึ่งเราต้องพัฒนาตั้งแต่คนไทยให้มีความรู้อย่างถูกต้อง
“รากเหง้าอาหารไทยเกิดขึ้นจากธรรมชาติ เกิดจากชีวิต เมื่อก่อนไม่มีเครื่องปรุงที่เป็นอุตสาหกรรม เราปรุงจากธรรมชาติ รากเหง้ามาจากพิธีกรรมประเพณีกับวัฒนธรรมการเป็นอยู่ เกิดจากบรรยากาศธรรมชาติ การเกิดขึ้นของอาหารไทยมีร้อยแปดพันเก้า แต่เกิดขึ้นแล้วคนไทยเก่งที่สุด และทำออกมาดี โดยบันทึกเรื่องแรกของอาหารไทย สมัยสุโขทัย จากหลักศิลาจารึก การกินของคนไทย ข้าวหม้อแกงหม้อ ขนมของสุโขทัย เป็นข้าวตอกน้ำพริก จากนั้นก็มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จาก 400 ปี จนมาถึงวันนี้ เราพัฒนาได้ลงตัวสุดๆ ออกมาดีที่สุด”
อย่างไรก็ตาม เชฟชุมพลเผยว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เป็นของเราเอง 100% อาหารไม่มีพรมแดน เพราะในเซาท์อีสเอเชียมีวัฒนธรรมด้านอาหารไม่แพ้ชาติไหน โดยวัฒนธรรมอาหารไทย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เป็น 4 วัฒนธรรมใหญ่ๆ มาแรงที่สุด”
เชฟชุมพลกล่าวถึงโครงการซอฟต์พาวเวอร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหารของรัฐบาลว่า เป้าแรก ผลักดันร้านอาหารไทยในต่างประเทศ 25,000 ร้านทั่วโลก เพื่อให้สินค้าอาหารไทยส่งออกได้มากขึ้น โดยมีเป้าหมาย 5 ปี จะทำยังไงให้มีร้านอาหารไทยทั่วโลก 1 แสนร้าน เป้าหมายต่อมาคือการสร้างคน โดยจะผลักดันอาชีพเชฟ สร้างคนให้รู้จักวัฒนธรรมรากเหง้าเอกลักษณ์อาหารไทยที่แท้จริง มีความรู้ในการทำอาหารตามมาตรฐานโลก โดยเราต้องยกระดับทักษะ วิธีการทำ องค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้คนของเรามีความเป็นมืออาชีพ จากนั้น สร้างผู้ประกอบการอาหาร นี่คือ 3 ยุทธศาสตร์ ซึ่งต้องจับต้องได้ มีมาตรฐาน เพื่อทำให้ธุรกิจยั่งยืน
“เราต้องทำให้อาหารไทยมีมาตรฐาน แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือต้องไม่ลืมรากเหง้าอาหาร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายร้อยปีมีค่ามาก” เชฟชุมพลย้ำ
สำหรับโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” 1 ในแผนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร เพื่อสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ใหม่ให้คนไทย เพื่อสร้างเชฟอาหารไทยที่ได้มาตรฐานผ่านการควบคุมและถ่ายทอดความรู้จากเชฟระดับมืออาชีพ
รูปแบบการจัดอบรม ON-SITE ONLINE โดยมีกลุ่มเป้าหมายประชาชนคนไทยทั้งในและต่างประเทศ ระยะเวลาเรียน 240 ชั่วโมง รูปแบบการเรียนการสอนระบบบูรณาการร่วมออนไลน์และฝึกปฏิบัติในพื้นที่ (Hy-Brid) โดยเรียนทฤษฎีออนไลน์ 90 ชั่วโมง และเรียนปฏิบัติในพื้นที่ 150 ชั่วโมง โดยในปี 2567 มีผู้เข้าอบรม 1,304 คน ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะได้รับใบประกาศนียบัตรจาก THACCA กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมอนามัย และผู้ผ่านการอบรมจะได้เข้ารับการฝึกงานกับภาคเอกชนที่เป็นเครือข่าย พร้อมโอกาสไปทำงานร้านอาหารต่างประเทศ ตามนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” เป้าหมายในปี 2568 จะเปิดอบรมยกระดับศักยภาพเชฟอาหารไทยให้ได้ 17,000 คน และให้ได้ 75,086 คนภายใน 4 ปี
ดร.ณัฐนรี สมิตร กล่าวว่า โครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับผู้เข้าอบรม ถ้าจบหลักสูตรนี้ไป สามารถเป็นเชฟได้จริงๆ ด้วยเป็นหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพ ระยะเวลาการเรียน 240 ชั่วโมง เป็นการเรียนระยะสั้นที่ชอร์ตคัตจากการเรียน 4 ปี มาเรียนแค่ 240 ชั่วโมง เรียนแล้วได้ประกาศนียบัตร อีกทั้งเป็นการเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“อยากฝาก อาหารไทยเป็นการเล่าเรื่องราวที่ดีมากๆ และปัจจุบันนี้ ยังขาดคนที่มีความเชี่ยวชาญในการเล่าเรื่องราวหรือถ่ายทอดไปสู่นานาชาติ หรือแม้แต่การเล่าเมนูอาหารให้คนกันเอง หรือคนที่บ้าน อยากฝากให้เรียนรู้ไปด้วยกัน และช่วยส่งเสริมอาหารไทยให้เป็นอาหารที่มีภาพลักษณ์ที่ดีในระดับนานาชาติต่อไปรวมถึงในอนาคต”
ขณะที่ เชฟบิ๊ก-ภูริพรรษ ใจวีระวัฒนากุล กล่าวถึงประโยชน์ของโครงการนี้ว่า เป็นหลักสูตรชอร์ตคัตที่คือทางลัดของคนที่อยากมาเป็นเชฟ ซึ่งโครงการนี้ได้เตรียมความพร้อมทุกอย่างให้ผู้อบรมแล้ว ซึ่งเมื่อจบไป ได้ใบประกาศนียบัตรก็สามารถไปทำงานในสายอาชีพเชฟ หรือไปทำงานในโรงแรม หรือไปทำงานที่ต่างประเทศได้เลย
“ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ทั้่งหมด ไม่เคยหุงข้าว ไม่เคยจับมีด สามารถเรียนได้ เพราะทุกรายวิชาสอนตั้งแต่เบสิก เหมือนเริ่มเรียนตั้งแต่ 0 ไปถึง 100 นับเป็นโครงการที่ให้ทุกคนได้มีพื้นฐานของอาหารไทยเท่ากัน เพื่อนำไปต่อยอดในอนาคตได้ ขอเชิญชวนทุกคนที่อยากเป็นเชฟ หรืออยากเปิดร้านอาหาร ทำงานในสายอาชีพเชฟ ลองมาเริ่มเรียนรู้กับอาหารไทย สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย มีเพียงความพร้อม อยู่ที่ใจว่าอยากเรียนรู้ขนาดไหน เพราะต้องใช้ความอดทนค่อนข้างสูง” เชฟบิ๊กกล่าว
อาหารไทย ซอฟต์พาวเวอร์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก”